พรรคเพื่อไทย 21 ก.ย.- ส.ส.เพื่อไทย ชี้ ประเทศไทยหนี้ล้นมีปัญหาเศรษฐกิจทุกด้าน จี้ นายกฯ ศึกษาข้อมูลก่อนให้โฆษกรัฐบาลแถลง แนะ ช่วยภาคอุตสาหกรรม -เร่งเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ
นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย และอดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ โฆษกรัฐบาลแถลงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะพุ่ง ทิศทางกำลังไปได้ดีว่า น่าจะตรงข้ามกับความเป็นจริงที่ประชาชนกำลังลำบากกันอย่างมาก การอ้างว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ขยายได้ 7.5% ทั้งที่ เศรษฐกิจไตรมาส 2 ปีที่แล้วติดลบมากถึง -12.2% และ การที่ไทยขยายตัวมากกว่าประเทศอื่นเพราะปีที่แล้วเศรษฐกิจประเทศอื่นไม่ได้ตกหนักเหมือนเศรษฐกิจไทย ดังนั้นจึงอยากให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนแถลง เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัญหาการฟื้นตัวช้าที่สุดในโลก ปัญหาการขาดดุลทางการคลังและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน แม้การส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่การนำเข้ากลับเพิ่มสูงกว่า และ การท่องเที่ยวหายไปเกือบหมด ทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 3.43 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะไทยต้องขยายเป็น 70%
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ไม่รู้จะหาเงินมาใช้หนี้ได้อย่างไร หนี้ครัวเรือนสูงถึง 14.13 ล้านล้านบาท หรือ สูงถึง 90.5% และ จะพุ่งถึง 93% ในปลายปีนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีปัญหาเต็มไปหมด เป็นผลให้ประเทศหนี้ล้น ประชาชนหนี้ท่วม ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ทั้งในระดับประเทศและในภาคครัวเรือน ดังนั้น จึงอยากให้ศึกษาก่อนพูด และการอ้างว่ามีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศของไทยลดลงมาตลอด”นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวว่า จากการเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 76.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 78.9 ในเดือนกรกฏาคม โดยค่าดัชนี ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือนนั้น ทำให้เห็นถึงการบริหารงานที่บกพร่องของรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องการควบคุมที่เข้มงวด แต่ขาดการวางแผนด้านเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง และวันนี้ภาคอุตสาหกรรม ออกมาเรียกร้อง ขอความช่วยเหลือจากรัฐ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาผู้ประกอบการ ในห่วงโซ่อุปทานการผลิต การเร่งให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน การกำหนดกฎเกณฑ์ การพักชำระหนี้ อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 และหากรัฐไม่สามารถที่จะดูแลได้ทั่วถึง ก็ควรจะมองเฉพาะจุด หรือเล็งไปที่จุดที่สามารถสร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจได้เช่นการค้าชายแดน ซึ่งทราบว่ากำลังจะเปิด Sandbox ชายแดนในหลายๆแต่ควรต้องนำบทเรียนที่าได้จากการทำ Sandbox ที่ภูเก็ต และหลายที่มาปรับใช้.- สำนักข่าวไทย