ทำเนียบ 18 ก.ย.-โฆษกรัฐบาล เผย 3 ปี EEC เดินหน้าลงทุนเป็นรูปธรรม สร้างเงินลงทุนรวม 1.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ 6 เดือนแรกปีนี้ มีเม็ดเงินลงทุน 126,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 นายกฯ เร่งเดินหน้าส่งเสริมการลงทุน เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการ EEC มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่เกิดพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2561 – มิ.ย. 2564 เกิดการลงทุนรวมที่ได้รับอนุมัติแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 94 จากเป้าหมายแผน 5 ปี (2561 – 2565) ของ EEC 1.7 ล้านล้านบาท เร็วกว่าเป้าที่กําหนดไว้ แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 4 โครงการหลัก (รถไฟฯ/สนามบินฯ/2 ท่าเรืออุตสาหกรรม) มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท แบ่งเป็น ทุนจากภาคเอกชน 387,018 ล้านบาท (ร้อยละ 61) จากภาครัฐ 196,940 ล้านบาท (ร้อยละ 39) 2. การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (จากการออกบัตรส่งเสริม BOI) มูลค่า 878,881 ล้านบาท (โครงการที่ขอยื่นส่งเสริมลงทุน ช่วงปี 2560 – มิ.ย. 2564 ลงทุนจริงแล้วกว่าร้อยละ 85) และ 3. การลงทุนผ่านงบบูรณาการ EEC มูลค่า 82,000 ล้านบาท สําหรับการลงทุน ช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2564 มีเงินลงทุน 126,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 (จากช่วงเดียวกันปี 63) โดยจํานวนขอโครงการสูงสุดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ชิ้นส่วน ส่วนเงินลงทุนสูงสุดคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์ สําหรับการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นร้อยละ 64 ของคําขอลงทุนใน EEC ซึ่งนักลงทุนที่สนใจมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ตามลําดับ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวต่อว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกยังมีการเตรียมพัฒนาพื้นที่ EECd เป็นเมืองดิจิทัลแห่งภูมิภาคดึงดูดการลงทุนสู่พื้นที่ EEC โดยตั้งเป้าให้ EECd เป็นเมืองดิจิทัลระดับโลก ขณะเดียวกัน จัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) โดยมีการดำเนินการจัดทําห้องเย็นเทคโนโลยีทันสมัย พัฒนาคุณภาพผลผลิตในระดับพรีเมียม มุ่งเป้า 5 คลัสเตอร์สําคัญ ได้แก่ ผลไม้ ประมงเพาะเลี้ยง พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ พืชสมุนไพร และเกษตรมูลค่าสูง เพื่อยกระดับรายได้ให้ชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อพัฒนาเชิงคุณภาพ ทําให้เกษตรกร ชุมชน คนรุ่นใหม่มีคุณภาพชีวิตและรายได้ ดีขึ้นอย่าง
นายธนากร กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ EEC ให้เป็นหนึ่งใน “ผลงานหลัก” (Flagship) ของรัฐบาล ผลักดันการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้เกิดขึ้นจริง ด้วยปริมาณและมูลค่าเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยแผนการลงทุนที่รอบด้านกว่าในอดีต เพื่อเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดเพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้วย.-สำนักข่าวไทย