รัฐสภา 20 ส.ค.-“ชวน” เตือน ส.ส.รักษามาตรฐานสภาฯ ทำตามข้อบังคับการประชุม หลังมี ส.ส.ไม่เข้าใจการแปรญัตติ ขณะสภาฯ ถกงบ ก.พลังงาน ชี้ปล่อยปละละเลยไม่มีโครงการเพื่อประชาชน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วาระที่ 2 และ 3 วันที่ 3 เริ่มพิจารณามาตรา 18 งบประมาณกระทรวงพลังงาน จำนวน 1,873,129,300 บาท ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการประชุม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สมาชิกส่วนใหญ่ได้ยึดตามแนวข้อบังคับ ซึ่งการแปรญัตติอาจมีบางท่านทำไม่ได้ด้วยความไม่เคยชิน แต่ขอเตือนอีกครั้งว่า การเตือนนี้ไม่ได้จุกจิกจู้จี้ แต่เพื่อให้ทุกคนได้รักษามาตรฐานของสภาฯ สมาชิกย่อมมีสิทธิในการอภิปราย เพราะเป็นการแปรญัตติ แต่ในข้อบังคับหากไม่ได้แปรญัตติ และไม่ได้สงวนความเห็น ก็อภิปรายได้เฉพาะถ้อยคำที่มีการเปลี่ยนแปลงตามข้อบังคับ ถ้าเข้าใจจุดนี้จะได้ปฏิบัติภารกิจได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น เพราะบันทึกทุกคนที่อภิปรายจะเป็นประวัติศาสตร์วันข้างหน้า หากคนมาอ่านก็จะได้เข้าใจว่า สมาชิกท่านนี้รู้กฎเกณฑ์หรือไม่
จากนั้นได้เข้าสู่วาระการประชุมพิจารณามาตรา 18 งบประมาณกระทรวงพลังงาน โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ปรับลดงบกระทรวงพลังงานไม่มาก ซึ่งในส่วนของตนได้สงวนความเห็นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (2) แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน รายการเงินอุดหนุนการชดเชยส่วนต่างการซื้อน้ำมันดิบของการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย 100 ล้านบาท
“รับทราบข้อมูลว่า กระบวนการน้ำมันปาล์มที่นำเข้ามาโดยไม่ถูกต้อง และปิดบังอำพรางบางส่วน บางครั้งก็สวมสิทธิโดยมิชอบ นำน้ำมันภายนอกเข้ามาทำราคาน้ำมันปาล์มให้สูงขึ้น หากสังเกตจะพบว่า ช่วงหลังๆ น้ำมันปาล์มมีราคาแพง แม้จะมีเงินชดเชยเงินอุดหนุนให้กับกรมพัฒนาพลังงานฯ ก็ไม่ได้หมายความว่า ตลาดค้าน้ำมันปาล์มดิบที่นำมาใช้มีความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการอยู่ และมีมูลค่าที่สูงมาก จึงอยากให้ ส.ส. ผู้ที่เป็น กมธ.ได้ติดตามและตรวจสอบ เพื่อให้ผลประโยชน์ของประเทศไม่รั่วไหล และให้ประชาชนใช้สินค้าที่มีราคายุติธรรม พร้อมทั้งให้กระบวนการทุจริตถูกปราบปราม” นายเรืองไกร กล่าว
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ได้สงวนความเห็นขอตัดลดงบกระทรวงพลังงาน 10% ซึ่งได้ตั้งโจทย์ไว้ตั้งแต่ในวาระ 1 อาทิ นโยบายของกระทรวงพลังงาน เป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนหรือไม่ น้ำมันแพง ของแพง ก๊าซ ค่าไฟ ขนส่งแพง กระทบประชาชนทั้งสิ้น เอกสารงบฯ ระบุว่า ตัวชี้วัดสำคัญที่สุด คือ การตั้งราคาพลังงานไปยึดโยงกับรายได้ของครัวเรือน ซึ่งมันไม่ได้ ประเทศมีพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติเพียงส่วนหนึ่ง มันต้องเกลี่ยต้นทุน ไม่ใช่เอาต้นทุนไปเทียบกับกำลังซื้อของประชาชนเป็นหลัก ตรงนี้มันผิดแต่ต้น จึงอยากถามว่า กรรมาธิการฯ ซักถามหรือไม่ว่า นโยบายกระทรวงฯ เป็นอย่างนี้หรือไม่
“ผมบอกว่าให้ช่วยไปดูราคาหน้าโรงกลั่นของเราที่แพงกว่าภูมิภาคนี้ ตั้งแต่ปี 61, 62, 63 และ 64 เห็นชัดว่าสูงกว่าทุกปี ซึ่งปี 64 สูงกว่าถึง 61% และราคาก๊าซ ผมก็ชี้ให้เห็นในคราวที่แล้วว่า หลักคิดของราคาก๊าซ ไปคิดอ้างอิงราคาตลาดทั้งที่ประเทศไทยมีก๊าซส่วนหนึ่งในประเทศ มีต้นทุนต่ำกว่า คำตอบคือ สำนักปลัดฯ ออกมาชี้แจง ซึ่งอยู่ในรายงานการประชุมกรรมาธิการฯ ว่า จะปรับลดเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน จาก 10 สตางค์ เป็น 5 สตางค์/ลิตร ท่านได้ดูหรือเปล่าว่าลดแค่นี้พอหรือไม่ อีกประการคือ ไม่ได้บอกว่าจะทำเมื่อไหร่ พูดลอยๆ กรรมาธิการฯ พอใจหรือ เพราะนี่คือทุกข์ของประชาชน” นายเกียรติ กล่าว
นายเกียรติ กล่าวว่า เรื่องก๊าซธรรมชาติ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน ระบุไว้ในรายงานการประชุมว่า เปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ปตท.เป็นผู้ดำเนินการ คำถามคือ เรามีกำกับดูแลกิจการพลังงานทำไม ท่านเขียนในรายงานของท่านอย่างนั้น แล้วท่านพอใจกับคำตอบนี้หรือว่า ปตท.จะเป็นผู้ดำเนินการในแง่ซึ่ง ปตท.เป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่ง แต่กรรมาธิการท่านไปบันทึกไว้ในรายงาน ผมก็ต้องตั้งคำถามกับกรรมาธิการ เพราะตรงนี้เป็นงานของกรรมาธิการ ไม่เกี่ยวกับกระทรวงแล้ว ทำไมกรรมาธิการยอมรับคำพูดและคำตอบเช่นนี้ มันผิดตั้งแต่ต้น และอีกเรื่องคือ กรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) บอกว่า ปรับราคาหน้าโรงกลั่น 50 สตางค์/ลิตร ปรับไปตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.63 ท่านได้ไปดูหรือไม่ว่า ปรับหน้าโรงกลั่นก็จริง แค่ค้าปลีก ที่ปั๊มไม่มีการปรับ และกำไรยังอยู่ในระบบทั้งหมด
“ถ้ากระทรวงฯ ตอบมาอย่างนี้ มันไปได้หรือ กรรมาธิการฯ ยังอนุมัติให้หรือ คำตอบมีบันทึกไว้ในรายงานการประชุมเช่นกันว่า มาถามอะไรเรื่องราคาประเทศไทยมันแพง เพราะราคาแต่ละประเทศต่างกัน เนื่องจากภาษีต่างกัน ผมไม่ได้พูดเรื่องเหล่านี้ ผมบอกว่าราคาหน้าโรงกลั่นไม่เกี่ยวกับภาษีในประเทศเลย คำตอบเหล่านี้มันหลงทาง ท่านกรรมาธิการฯ ได้โต้แย้งไปหรือไม่ ในมุมหนึ่งถ้าผมเป็นกรรมาธิการอยู่ ผมคิดว่า คำพูดอย่างนี้มันดูถูกกรรมาธิการ และราคาขายปลีกไม่ลดลงเลย ได้ตั้งคำถามกลับไปหรือเปล่า ต้นทุนพลังงานคือต้นทุนสินค้าทุกประเภท กระทบชีวิตประชาชน กระทบค่าไฟ นี่คือเรื่องใหญ่ ผ่านไปง่ายๆ ไม่ได้ พอผมอ่านรายงานการประชุมยิ่งกังวลไปอีก ผมไม่มีอะไรมาก แต่ขอคำชี้แจงว่า เวลาท่านเรียกเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ มาอธิบายใน กมธ. เขาชี้แจงมาแบบนี้ แล้วท่านยอมรับคำชี้แจงแบบนี้หรือเปล่า หรือมีแนวทางที่แนะนำไป แต่ไม่ได้บันทึกในรายงานการประชุมหรือเปล่า” นายเกียรติ กล่าว
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ขอเสนอปรับลดงบประมาณปี 2565 ของกระทรวงพลังงานลง 7% ทั้งนี้ ตนไม่รู้จัก รมว.พลังงาน เป็นการส่วนตัว และไม่มีธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในกระทรวงฯ แต่ตนเป็นผู้หนึ่งที่ใช้พลังงานทุกรูปแบบ และได้รับผลกระทบทุกครั้งกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันวิกฤติเศรษฐกิจการลงทุนของไทยตกต่ำ ธุรกิจที่อยู่รอดคือกลุ่มพลังงาน แม้ผลประกอบการจะลดลง ซึ่งกระทรวงพลังงานถูกปรับลดเพียงแค่ 10 ล้านบาท จากงบประมาณที่ขอไว้ เป็นการปรับลดลงน้อยมากแบบมีนัยสำคัญ โดยกระทรวงฯ ขอรับงบประมาณแบบชาญฉลาด ตั้งงบประมาณผูกพันประจำปีเกือบทุกโครงการ
“ไม่ว่าจะโครงการเล็กหรือใหญ่ ใช้วิธีการจากบริษัทมหาชนข้างนอกมาทำงบประมาณ เช่น การเช่ารถประจำตำแหน่งของเลขานุการรัฐมนตรี จำนวน 1.5 ล้านบาท โดยทำเป็นงบต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561-2565 อีกทั้งการจัดซื้อรถตู้ การจัดซื้อรถหกล้อ 1 ตัน การจัดซื้อรถกระบะ การจัดซื้อรถบรรทุก ใช้วิธีการเดียวกันหมด คือ งบผูกพัน จำนวน 20-30 คัน ที่ กมธ.ไม่สามารถตัดได้ เพราะถ้าตัดจะกระทบกับการใช้จ่ายงบต่อเนื่อง รวมถึงโครงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้านพลังงานทดแทนก็ตั้งรายจ่ายค่าจ้างศึกษาความเหมาะสม และการสำรวจ ก็เป็นงบผูกพันต่อเนื่องไว้เกือบทุกโครงการ และราคาน้ำมันยังขึ้นต่อเนื่องในวิกฤติโควิดด้วย จึงถามว่า ทำไมราคาน้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า จึงสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นงบทิพย์ที่ไม่สามารถตัดได้จริง ดังนั้น ตนจึงขอปรับลดลง 7%” นายณัฏฐ์ชนน กล่าว
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาเรื่องราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ตนเสนอปรับลดงบประมาณกระทรวงพลังงานลง 7% เพราะกรรมาธิการปรับลดงบประมาณกระทรวงนี้ลงน้อยมาก จึงขอถามกรรมาธิการว่า ได้ทำหน้าที่ดูแลให้ความเป็นธรรมเรื่องราคาพลังงานกับประชาชนมากน้อยเพียงใด
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเสนอให้ปรับลดลง 10% ซึ่งกระทรวงนี้เหมือนจะของบประมาณมาน้อย ดูเหมือนน่าสงสาร และแลดูสวยงาม แต่เอาเข้าจริงเป็นงบประมาณที่มาก เพราะส่วนใหญ่มีรายรับ ความเป็นจริงไม่ควรให้งบกับกระทรวงนี้เลย แต่เป็นกระทรวงสำคัญและมีความจำเป็น เพราะหน่วยงานในกระทรวงนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินภาษีของประชาชน ที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้วก็ฟ้องอนุญาโตตุลาการต่อกระทรวงพลังงาน มีการจ้างทนายเกือบ 1,000 ล้านบาท จากต่างประเทศ เพื่อสู้คดีที่ฟ้องรัฐบาลไทย ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปจ้างทนายความเพื่อสู้คดี
“ถ้าเอาเงินงบที่ตั้งมาไปลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ไม่มีปัญหา แต่ตั้งงบมาเพื่อไปจ่ายทนาย ถามว่าใครเป็นคนผิด ใครพลาดก็จะต้องไปทวงตั้ง 7 ชั่วโคตร รัฐบาลผิดพลาด แต่ใช้ภาษีของประชาชนจ้างทนาย และราคาปาล์มน้ำมันที่ลดลง แต่รัฐบาลกลับแก้ปัญหาด้วยการสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตซื้อปาล์มจากภาคใต้มาโรงไฟฟ้าบางปะกง ผมขอฟ้องประชาชนว่า เงินที่ตั้งทั้งหมดไม่ได้เป็นการลงทุน แต่ไปใช้เรื่องที่ทำผิดพลาดทั้งสิ้น รวมทั้งถามว่า กระทรวงพลังงานปล่อยปละละเลยเอื้อกับกลุ่มทุนหรือไม่ หากทำตรงไปตรงมาไม่มีใครว่า อย่างไรก็ตาม รายละเอียดและข้อมูลทั้งหมด ขอให้ รมว.พลังงาน พิจารณาและดำเนินการ ทั้งนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องขอให้ติดตามต่อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ” นายจิรายุ กล่าว
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการฯ อภิปรายว่า ในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร และ จ.เพชรบูรณ์ พบว่ามีการสำรวจปริมาณน้ำมัน โดยทุกคืนจะพบการขนน้ำมันออกจาก 2 พื้นที่ดังกล่าว โดยระบุว่าเพื่อการวิจัย แต่ข้อเท็จจริงพบว่านำไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้ในประเทศเมียนมามีน้ำมันราคาถูก ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีน้ำมันมากสุดในอาเซียน จึงขอปรับลดงบประมาณกระทรวงพลังงาน เพื่อปรับแผนการบริหารงานให้ดูแลประชาชนที่เป็นผู้บริโภคน้ำมันแพงที่สุด การจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ควรตั้งงบชดเชยหรือเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคกับพื้นที่เมืองให้ราคาเท่ากัน โดยรัฐบาลต้องชดเชยตัวเลขเหลื่อมล้ำค่าพลังงาน
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติมาตรา 18 โดยเสียงข้างมาก 230 เสียง เห็นชอบตาม กมธ.เสียงข้างมาก ต่อ 109 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ก่อนที่ประชุมจะพิจารณามาตรา 19 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงพาณิชย์ต่อไป.-สำนักข่าวไทย