กทม. 27 ก.ค.-ลุงป้อม เร่งช่วยเกษตรกรทุกพื้นที่ ช่วงโควิดระบาด ให้มีที่ดินทำกิน มีรายได้ยังดูแลตัวเอง ชุมชน
27 กรกฎาคม 2564 พลตำรวจเอก เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. กล่าวว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล บจธ. มีความห่วงใยความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้สั่งการให้ บจธ. ดำเนินการติดตาม โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วจำนวนพื้นที่ 1,234-2-17.7 ไร่ ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรให้มีที่ดินทำกิน จำนวน 482 ครัวเรือน และโครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน จากการจำนอง ขายฝาก และถูกบังคับคดี ได้มีที่ดินของตนเองกลับคืนมาจำนวน 334 ราย จำนวนพื้นที่ 2,319-0-55.9 ไร่
นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. เปิดเผยว่า การดำเนินงานของ บจธ. มีกระบวนการส่วนร่วมของพี่น้องเกษตรกรและชุมชน โดยได้อบรมปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการทุกคน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และสร้างเป็นเครือข่ายเกษตรกร ในช่วงการระบาดโควิด-19 พบว่าวิสาหกิจชุมชน 11 พื้นที่ สหกรณ์การเกษตร 1 พื้นที่ และเกษตรกรรายย่อยจำนวน 334 ราย ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ) มีระบบบริหารจัดการที่เข้มแข็ง มีผลผลิตและผลิตภัณฑ์การเกษตรปลอดสารพิษเพื่อบริโภคและจำหน่าย สามารถสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวของสมาชิกในชุมชน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้จ่ายค่าเช่าที่ดิน และค่าเช่าซื้อที่ดินกับ บจธ. มีความมั่นคงในที่ดินทำกิน เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ทำให้ให้ที่ดินหลุดมือเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ ไม่สามารถชำระหนี้สินได้จากวิกฤตโควิด-19 ปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยมีปัญหาที่ดินจะหลุดมือ หรือหลุดมือไปแล้ว ได้ขอความช่วยเหลือจาก บจธ. จำนวน 900 กว่าราย เข้าหลักเกณฑ์จำนวน 630 ราย และมีเกษตรกรผู้ยากจนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หน่วยงานของรัฐและเอกชนได้ ทำให้ไปใช้บริการเงินกู้นอกระบบ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยแพงมากเกินกฎหมายกำหนด จึงมีแนวโน้มจะถูกยึดที่ดินทำกิน ทั้งนี้ บจธ. สามารถให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่ประสบปัญหาดังกล่าวได้ “ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-278-1648 ต่อ 115, 02-278-1244 ต่อ 610 หรือ 063-214-7844 อีเมล์ saraban@labai.or.th” .-สำนักข่าวไทย