กรุงเทพฯ 26 ก.ค. – “ศักดิ์สยาม” ยืนยันความพร้อมขั้นตอนส่งผู้ป่วยโควิด-19 ใน 7 จังหวัดภาคอีสาน กลับภูมิลำเนาโดยรถไฟ โดย รฟท.เริ่มเดินรถขบวนแรก พรุ่งนี้ (27 ก.ค.) รถออกจากสถานีรังสิต เวลา 09.00 น.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามเตรียมการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครราชสีมา อำนาจเจริญ ยโสธร และสุรินทร์ ผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ โปรแกรม Zoom ณ กระทรวงคมนาคม วันนี้ (26 ก.ค.64)
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละคนรับผิดชอบการส่งผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโควิด-19 ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล กลับไปเข้ารับการรักษาในจังหวัดภูมิลำเนา และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับผิดชอบการประสานและบริหารการจัดส่งผู้ป่วยใน 6 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับผิดชอบการประสานการบริหารจัดการจัดส่งผู้ป่วย จ.นครราชสีมา รวมเป็น 7 จังหวัด ซึ่งต่อมากระทรวงคมนาคมได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เพื่อประสานการดำเนินงานระหว่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งประสานการดำเนินงานนั้น
กระทรวงคมนาคม โดยความร่วมมือของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงสาธารณสุข โดยความร่วมมือของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดให้มีขบวนรถไฟเป็นขบวนแรก เที่ยวพิเศษ ขบวน 971 เส้นทางต้นทางสถานีรถไฟรังสิต-ปลายทางอุบลราชธานี ออกเดินทางจากสถานีรังสิต วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. โดยให้บริการโดยสารสำหรับผู้ป่วยที่แสดงความประสงค์กลับไปเข้ารับการรักษาอาการที่ 7 จังหวัดภูมิลำเนา จำนวน 137 คน (มีอาการระดับเขียว-เหลือง) โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน ดังนี้
1) ผู้ป่วยฯ แจ้งความประสงค์ผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และแสดงความประสงค์ผ่านระบบ Call Center จังหวัดภูมิลำเนา และได้รับการดูแล คัดกรอง ตรวจสอบสภาพความพร้อม และอาการเบื้องต้นจาก สพฉ. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานในการดูแลผู้ป่วยจากที่พักมายังสถานีต้นทาง และดูแลอาการ สุขอนามัย ตามมาตรฐานด้านการสาธารณสุขอย่างเข้มงวดตลอดการเดินทาง
2) รฟท. ดูแลเรื่องการเดินขบวนรถไฟ ตลอดจนการอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง จนถึงจังหวัดปลายทาง
3) ผู้ว่าราชการจังหวัดภูมิลำเนา และหน่วยบริการสาธารณสุข หน่วยทหาร และขนส่งจังหวัด ร่วมในการรับ-ส่งผู้ป่วยจากสถานีรถไฟจังหวัดปลายทาง ไปยังสถานพยาบาลที่จังหวัดจัดเตรียมไว้ให้
กระทรวงคมนาคม เร่งประสานกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าพาผู้ป่วยโควิด-19 กลับบ้านเกิด 7 จังหวัดอีสานใต้ ตามการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน หากพบมีปริมาณความต้องการเดินทางของผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก กระทรวงคมนาคมพร้อมเสริมทัพจัดระบบ ขนส่งทางบก-ทางราง โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่และใกล้ชิดต่อไป โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเดินรถไฟขบวนพิเศษ เพื่อจัดส่งผู้ป่วยฯ ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ไปยังจังหวัดภูมิลำเนา 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อเข้ารับการรักษา จะได้รับโอกาสเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์อย่างทันท่วงที และนำความปลอดภัยมาสู่ประชาชนที่ได้รับเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมสรุปทั้งในส่วนของขั้นตอนการประสานจัดส่งผู้ป่วย ความพร้อมของทั้งส่วนกลาง กับจังหวัดปลายทาง ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยมีความพร้อมดำเนินการแล้ว โดยเฉพาะใน 7 จังหวัด มีความพร้อมทั้งในส่วนจุดรับเมื่อผู้ป่วยถึงจังหวัด ขั้นตอนการคัดกรอง และพื้นที่ให้การรักษาผู้ป่วย ทั้งส่วนที่เป็นศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาล
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ขณะนี้มีความพร้อมที่จะรับส่งผู้ป่วยแล้ว โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงฯ ได้แก่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กรมขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้จัดขบวนรถ รวมถึงออกแบบเส้นทางการขนส่ง การอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ที่จะให้บริการ มีความรู้ความเข้าใจในข้อปฏิบัติ เพื่อให้การขนส่งผู้โดยสารเป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข ซึ่งหน่วยงานแรกที่จะเริ่มส่งผู้ป่วยได้ คือ รฟท. โดยมีการเตรียมแผนที่ให้บริการรถไฟสายอีสานใต้ ผ่านนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เริ่มให้ส่งผู้ป่วยตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (27 ก.ค.64) เป็นต้นไป
“ในส่วนของกระบวนการรับและส่งผู้โดยสารโดยหน่วยงานของคมนาคม ได้สั่งการย้ำว่า ทุกขบวนจะต้องเป็นขบวนพิเศษ ทั้งกรณีรถของ บขส. หรือรถไฟ ทั้งพื้นที่และเวลาการขนส่งผู้ป่วยจะต้องแยกกับผู้โดยสารทั่วไป เพราะประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด คือ ความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป โดยหากจังหวัดอื่นๆ มีการประสานเข้ามา กระทรวงคมนาคม พร้อมจะสนับสนุนการเดินทางกลับภูมิลำเนาของผู้ป่วยโควิด-19 ภายใต้โมเดลเดียวกันกับ 7 จังหวัดนี้” นายศักดิ์สยาม กล่าว
รมว.คมนาคม กล่าวว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนว่า การส่งผู้ป่วยจะดำเนินไปอย่างรัดกุม การจัดส่งผู้ป่วยของหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม จะดำเนินการโดยประสานข้อมูลร่วมกันกับ 3 หน่วยงานหลัก คือ สปสช. สพฉ. และจังหวัด เพื่อให้การจัดส่งมีความปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข โดยตามขั้นตอนผู้ป่วยจะต้องติดต่อผ่านสายด่วน สปสช. 1330 หรือติดต่อแจ้งความประสงค์กับแต่ละจังหวัด จากนั้นแต่ละจังหวัดจะรวบรวมรายชื่อ จำนวนผู้ป่วย จำนวนเตียงที่ว่าง แล้วแจ้งยอดต่อ สพฉ. จากนั้น สพฉ.จะแจ้งยอดผู้ป่วยให้แก่กระทรวงคมนาคม เพื่อจัดขบวนรถและจัดเส้นทางการขนส่ง พร้อมประสานวัน เวลา เพื่อเข้ารับตัวผู้ป่วยจากที่พักอาศัย โดยจะไม่มีกรณีผู้ป่วยเดินทางมา ณ จุดขึ้นรถเอง
นอกจากนี้ ระหว่างการส่งผู้ป่วยโดยรถขบวนพิเศษนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ทั้งด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตรวจ ไปกับขบวนรถ เพื่อดูแลผู้ป่วยและความเรียบร้อยในขบวนรถ มีการแยกกลุ่มผู้ป่วยที่ชัดเจน เช่น กรณีของ รฟท. จะมีการแยกโบกี้ระหว่างผู้ป่วยกลุ่มยืนยันด้วยผลตรวจ RT-PCR positive กับกลุ่มผลตรวจ ATK positive เพื่อป้องกันกรณีที่ผู้มีผลตรวจ ATK positive คลาดเคลื่อนมาปะปนกับผู้ที่ผลตรวจชัดเจนแล้ว และก่อนออกเดินทาง สพฉ.จะมีการประเมินอาการของผู้ป่วยทุกรายก่อนให้ออกเดินทาง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง
“ขอย้ำกับผู้ป่วยที่ประสงค์จะเดินทางกลับไปรักษาตัว ณ ภูมิลำเนาทุกคนว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนการเดินทางเต็มที่ ขอให้ทุกท่านเดินทางโดยผ่านระบบของทางการ อย่าเดินทางกลับเอง เพื่อเป็นการดูแลทั้งตัวท่านเองและประชาชนท่านอื่น หากประสงค์กลับบ้านให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อเข้าสู่ระบบการจัดส่งผู้ป่วย โดยทั้งหมดภาครัฐให้การสนับสนุนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย” นายศักดิ์สยาม กล่าว. – สำนักข่าวไทย