อสมท . 23 ก.ค. – นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ระบุ กระแสคนดัง Call Out รัฐบาล ควรเปิดพื้นที่สาธารณะรับฟังประชาชน ตามหลักประชาธิปไตย ไม่ใช่การไล่ฟ้องร้องดำเนินคดี ชี้ควรให้ข้อมูลข้อเท็จจริงสร้างความเข้าใจหักล้างเฟคนิวส์ หวั่นพัฒนาความขัดแย้ง
นายยุทธพร อิสรชัย อาจาร์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกรณีดารา นักแสดง นักร้องและผู้มีชื่อเสียงออกมาแสดงความเห็นวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาโควิด 19 หรือ CALL OUT ว่า การแสดงออกทางการเมืองโดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ปกติ ซึ่งตามหลักรัฐศาสตร์หรือทางกฎหมายมหาชนถือว่าเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติธรรม ดังนั้นในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญจะมีการรับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพ และสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือผู้ที่ใช้อำนาจสาธารณะแทนมหาชน เฉะนั้นการจะถูดวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการมาไล่ฟ้อง ไม่ว่าจะบอกว่าเป็นตัวแทนรัฐบาล มีความใกล้ชิด หรือถูกปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็ตาม ตรงนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่ควรเคารพเสรีภาพซึ่งกันและกัน
นายยุทธพร กล่าวอีกว่า เรื่องการวิพากวิจารณ์รัฐบาลหรือกระทบกับข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลข้อเท็จจริงก็มีเส้นแบ่งการพิจารณา 2 ส่วน คือ ส่วนบุคคล ที่ถือเป็นสิทธิสามารถฟ้องร้องได้ทางศาลได้ แต่ในทางสถานะยังเป็นเรื่องการใช้อำนาจสาธารณะ ทั้งการบริหารงาน การดำเนินนโยบายต่างๆอันนี้ไม่ใช่ความเสียหายส่วนบุคคล ดังนั้นเส้นแบ่งตรงนี้ที่จะชี้ให้เห็นว่า ตรงไหนคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เรื่องไหนเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ดังนั้นหากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารงานของรัฐบาลในสถานการณ์โควิด-19 หรือ การบริหารงานด้านเศรษฐกิจ การเมืองของรัฐบาล ถือเป็นสิทธิของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้และได้รับการคุ้มครองด้วย ทั้งนี้ในประเทศไทยจะมองในลักษณะเอารัฐเป็นตัวตั้ง หรือรัฐล้อมสังคม เพราะฉะนั้นรัฐจึงให้ความสำคัญกับเรื่องของความมั่นคงมากกว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากย้อนกลับไปในอดีตก็จะเห็นว่ามีการควบคุมการใช้สื่อ จนปัจจุบันก็มีการกำกับเรื่องสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆเข้ามา ตั้งแต่การร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์2550-2560 และรัฐยังมีการตั้งศูนย์เฟคนิวส์ หรือแนวคิดว่าสุดที่จะให้ลงทะเบียนสำหรับผู้จะใช้สื่อออนไลน์ในอนาคต สิ่งเหล่านี้เป็นการมองแบบเอารัฐเป็นตัวตั้ง ซึ่งขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยที่ต้องเอาสังคมเป็นตัวตั้ง หรือมุ่งคุมครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าการให้ความสำคัญกับการความมั่นคงของรัฐเท่านั้น
นายยุทธพร ยังกล่าวว่า การบริหารงานในภาวะวิกฤตจะเห็นได้ว่ากระบวนการที่จะสร้างประสิทธิภาพทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งตอนนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่ยังไม่มีทางออกและยังเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต จนเกิดสิ่งที่เป็นวิกฤตจากฝีมือมนุษย์ เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องการระบาดแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่ยังไม่ดีนักจึงเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ดังนั้นในภาวะแบบนี้สิ่งที่ต้องทำคือการเร่งแก้ปัญหา และต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วม หรือการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ในมุมคิดที่ต่างจากรัฐมอง นี่คือสิ่งที่รัฐต้องทำไม่ใช่เรื่องการมาไล่จับคน หรือใช้อำนาจรัฐในการปิดกั้นกดทับ รัฐต้องเปิดมุมมองเชิงสร้างสรรค์มากขึ้นที่จะใช้คนได้แสดงความคิดเห็น เพราะมีเส้นแบ่งอยู่แล้ว ว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือเรื่องไหนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องสาธารณะ ถ้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลแน่นอนว่าทุกคนมีสิทธิแต่บุคคลนั้นจะเป็นคนที่อยุ่ในอำนาจรัฐ เป็นนักการเมือง เป็นประชาชนทั่วไปทุกคนมีสิทธิคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ส่วนการใช้อำนาจสาธารณะสิ่งนี้ต้องเปิดกว้างในฐานะที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาให้เป้นตัวแทนของประชาชนในการใช้อำนาจสาธารณะก็เป็นสิทธิที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็น ในทางกลับกันรัฐต้องมองย้อนกลับมาด้วยว่า อะไรที่ทำให้เกิดการวิพากวิจารณ์ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ การสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤตที่ทำให้เกิดข้อมูลความสับสนกับประชาชน ดังนั้นการสื่อสารกับประชาชนในภาวะวิกฤต และประชาชนมีทางเลือกในการรับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งก็มีข้อมูลทั้งที่เป็นข่าวจริง และข้อมูลข่าวปลอมก็มี ซึ่งเป็นไปที่ประชาชนจะเข้าใจผิด และอาจนำข้อมูลที่เป็นข่าวปลอมมาวิพากวิจารณ์ได้
“หน้าที่ของรัฐจึงไม่ใช่การติดตาม ตรวจสอบดำเนินคดีกับประชาชน แต่ต้องชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงให้ประจักษ์ เพราะหากข้อมูลที่ออกมาจากรัฐที่ไม่เหมือนกันจึงทำให้เกิดปัญหา รัฐจึงต้องทำข้อมูลให้ปรากฎเพื่อนำไปต่อสู่กับข่าวปลอมต่างๆ ไม่ใช่เรื่องการใช้กฎหมายไปตรวจสอบ หากยังมีการเดินหน้าดำเนินการลักษณะนี้อยู่จะเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากว่า จะมีการพัฒนาเรื่องความขัดแย้งเกิดขึ้น มีการขัดแย้งเชิงขั้วอุดมการณ์ และยังมีความขัดแย้งที่เกิดจากความเดือดร้อนของประชาชนจะกลายเป็นความขัดแย้งที่ไร้ขั้วอุดมการณ์ ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้รัฐบาลจะไร้ความชอบธรรมในการบริหาร”นายยุทธพร กล่าว นายยุทธพร กล่าวอีกว่า รัฐในสังคมประชาธิปไตย ต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์ มากกว่าความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำวันนี้จึงเป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ เช่น การจัดหาวัคซีนที่ดีมีคุณภาพ การมีระบบสาธารณสุขที่เข้าถึงได้ การเร่งแก้ปัญหาเยียวยาเศรษฐกิจเพื่อการดำรงชีพของประชาชน ไม่ใช่การให้ความมั่นคงกับรัฐเช่นการดำเนินคดีความเพื่อปกป้องรัฐเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย