ทำเนียบ 23 ก.ค.-พล.อ.ประวิตร มุ่งมั่นแก้ค้ามนุษย์ต่อเนื่อง สั่งยกระดับศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐ รองรับมาตรการสากล ยืนยันรัฐบาลจริงใจแก้ปัญหา ยึดหลักสิทธิมนุษยชน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ครั้งที่ 3/2564 โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกคะทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
ที่ประชุมได้รับทราบ รายงานผลการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย โดยมีข้อสังเกตถึงแนวโน้มสถานการณ์การค้ามนุษย์ในรูปแบบออนไลน์และแรงงานบังคับเพิ่มสูงขึ้น ,การจำกัดการเคลื่อนที่และการสื่อสารของผู้เสียหายที่ถูกบังคับกักตัวในสถานคุ้มครองของรัฐ ควรมีการวิเคราะห์ผู้เสียหายเป็นรายบุคคล ,การคัดกรองคดียังประสบปัญหาความชัดเจน ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และ การขาดแคลนล่ามผู้เชี่ยวชาญ ควรยกระดับการแก้ปัญหาร่วมกัน และรับทราบ TIP Report ประจำปี 64 ของสหรัฐ ซึ่งปีนี้ปรับระดับประเทศไทยจากระดับ 2 (Tier 2)ไปอยู่ในระดับ 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยสหรัฐฯ ได้เห็นถึงความพยายาม อย่างมีนัยสำคัญของไทย พร้อมให้ข้อแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ให้บรรลุเป้าหมาย ต่อไป
ที่ประชุมได้เห็นชอบ แผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี 64-65 และโครงการสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ใน 3 ด้านได้แก่ ด้านดำเนินคดี ให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)รับผิดชอบ ด้านคุ้มครองช่วยเหลือ ให้ พม.รับผิดชอบ และด้านป้องกัน ให้กระทรวงแรงงานรับผิดชอบ และเห็นชอบ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ไทย-สหรัฐ(ฝ่ายไทย) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และขับเคลื่อนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ
จากนั้น ได้ประชุมคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ต่อเนื่องกัน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อมุ่งเน้นให้เป็นที่ยอมรับ และยกระดับสู่มาตรฐานสากล ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ
พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับ คณะอนุกรรมการฯ ชุดใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการต่อต้านการค้ามนุษย์ จะต้องเร่งรัดดำเนินงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อแสดงความจริงใจ ต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย และต้องบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม และเด็ดขาดให้มากขึ้น พร้อมให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ ให้มุ่งมั่น ทุ่มเทในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ.-สำนักข่าวไทย