กรุงเทพฯ 18 มิ.ย.-ศบค.ชุดใหญ่ ประชุมวันนี้ (18 มิ.ย.) หารือมาตรการเปิดประเทศ และแผนให้บริการวัคซีน ขณะที่ ททท. กำชับพื้นที่เป้าหมาย เตรียมพร้อมทุกด้าน
การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธาน ในวันนี้ (18 มิ.ย.) วาระสำคัญ ที่ประชุมจะพิจารณาแผนให้บริการวัคซีนโควิด-19 ที่อีโอซี กระทรวงสาธารณสุขเสนอ จากนั้นจะพิจารณาแนวทางดำเนินการของสถานที่กักกัน ซึ่งทางราชการกำหนดในวันที่ 1 ก.ค.64 ที่ ศปก.ศบค. และกรมควบคุมโรคเสนอ การพิจารณาข้อกำหนดการปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ที่ ศปก.ศบค.เป็นผู้เสนอ การปรับระยะเวลาการกักตัวสำหรับลูกเรือของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ศปก.ศบค. กรมควบคุมโรคเสนอ
รวมถึงพิจารณาข้อกำหนดสำหรับการดำเนินการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่องใน จ.ภูเก็ต และเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เสนอ อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายจะมีรายงานผลการดำเนินการของ ศปก.ต่างๆ ตลอดจนปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมตั้งเป้าประเทศไทยต้องเปิดประเทศ ภายใน 120 วันว่า ใน 120 วันหลังจากนี้ ยืนยันว่าเดิมมีแผนเตรียมรองรับไว้แล้ว หลังจากนำร่องเปิดประเทศที่ จ.ภูเก็ต ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยอีก 9 พื้นที่ที่เตรียมไว้ในแผนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว คือ พังงา-เขาหลัก, กระบี่, เกาะสมุย, เชียงใหม่, ชลบุรี (พัทยา), กรุงเทพฯ, ชะอำ, หัวหิน และบุรีรัมย์ แผนที่กำหนดไว้จะเปิดในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่หลังมีคำสั่งล่าสุดจากนายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้ทุกพื้นที่กระชับแผนร่นระยะเวลาขึ้นมาอีกให้สามารถเตรียมพร้อมทุกด้านไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้าผู้ประกอบการ ประชาชน ต้องเสร็จ และพร้อมภายในไตรมาสที่ 3
โดยการเตรียมตัว ได้มอบนโยบายให้กับ 10 พื้นที่ เตรียมตัวใน 3 เรื่อง คือ 1.การควบคุมคนในพื้นที่ ทั้งนักท่องเที่ยว ประชาชน นวมไปถึงบุคคลที่จะหลบหนีเข้ามา ตรงนี้ให้ไปกำชับ และวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมนำเสนอให้มีประสิทธิภาพ ไม่อยากให้ใช้คำว่าควบคุม แต่เป็นการดูแลนักท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตร เรื่องที่ 2 เตรียมสถานที่ท่องเที่ยว มาตรการดูแลของพนักงาน บุคลากรในธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อรองรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ และเรื่องที่ 3 การทำการตลาด เพื่อดึงนักท่องเที่ยว ประเด็นนี้เดิมวางแผนทำการตลาดไว้แค่ในพื้นที่ ภูเก็ต และเกาะสมุย แต่ตอนนี้ต้องกำชับทุกสำนักงานในพื้นที่นำร่องทำการตลาด ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา
แต่ก็มีตัวแปรสำคัญที่ไม่สามารถจะกำหนดได้ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในอนาคต และแผนการกระจายวัคซีนให้คนในพื้นที่ แผนการควบคุมโรคภายในประเทศ หากไม่เปนไปตามแผน อาจจะส่งผลต่อการเปิดประเทศในอนาคตได้.-สำนักข่าวไทย