สำนักงานป.ป.ช. 10 มิ.ย.- ป.ป.ช. – สตช. ร่วมพัฒนางานสอบสวน-ไต่สวน ยกระดับปราบทุจริต ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดการประชุมประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดย พล.ต.อวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมร่วมกัน โดยผู้บริหารของสำนักงาน ป.ป.ช. และ สตช. ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เป็นการประชุมเพื่อหารือถึงความร่วมมือของสองหน่วยงาน เช่น การดำเนินการตามหมายจับ การส่งสำนวนให้กับพนักงานสอบสวน ระบบข้อมูลสารสนเทศ การเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่าง ป.ป.ช. กับ สตช. การร่วมมือกันในการติดตามผู้ต้องหาตามหมายจับตามที่ ป.ป.ช.ขอให้ตำรวจออกหมายจับให้ ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อตามกฎหมายจะต้องส่งกลับมาให้ ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช.ดูว่าการทำงานต่างๆ เป็นไปตามความเหมาะสมหรือไม่ และต้องมาลงในรายละเอียดกันว่า ป.ป.ช.มอบพนักงานสอบสวนไปแล้วในส่วนของจังหวัดใด อำเภอไหน ภาคไหน หรือ สถานีตำรวจภูธรไหน จะต้องมีระบบในการติดตามกรณีกล่าวหาต่างๆ นอกจากนี้ ยังหารือกันถึงเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรรม ที่จะต้องมีการสร้างระบบการเชื่อมโยงข้อมูลภายในของทั้งสองหน่วยงาน เหมือนกับที่ในปัจจุบัน ป.ป.ช.เชื่อมโยงข้อมูลกับอัยการ ศาล
“วันนี้ต้องมาเพิ่มความเชื่อมโยงข้อมูลกับตำรวจ เพื่อให้ครบวงจรของการส่งเรื่องไปให้ตำรวจ หรือตำรวจส่งกลับมา ป.ป.ช. หรือตำรวจส่งฟ้องไปยังอัยการ หรืออัยการส่งฟ้องไปยังศาล ซึ่งหากครบวงจรแล้วจะสามารถติดตามข้อมูลการทุจริตได้อย่างเป็นระบบ สามารถนำข้อมูลต่างๆ มาประมวลได้ เช่น เรื่องที่ ป.ป.ช.ไต่สวนเสร็จแล้ว หรือพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้วได้ส่งฟ้องและสั่งฟ้องกี่เรื่อง หรืออัยการสั่งฟ้องและไม่สั่งฟ้องกี่เรื่อง ศาลตัดสินและยกฟ้องกี่เรื่อง จะได้มีข้อมูลทั้งระบบ” นายนิวัติไชย กล่าว
นายนิวัติไชย กล่าวว่า ทาง ผบ.ตร.เสนอแนะต่อ ป.ป.ช.ว่าจะร่วมฝึกอบรมในเรื่องการสอบสวน เพิ่มเติมประสิทธิภาพและเทคนิคของพนักงาน เช่น การแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมการสอบสวน หรือทาง ป.ป.ช.ให้พนักงานสอบสวนมาร่วมฝึกเรื่องการไต่สวนในคดีทุจริต เพื่อจะได้รู้ว่าเรื่องคดีทุจริตนั้น การไต่สวนจะต้องไต่สวนใคร เป็นการเพิ่มองค์ความรู้ รวมไปถึงเรื่องระเบียบพัสดุ จัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบวิธีปฏิบัติ กฎหมายปราบทุจริต ซึ่งทาง ป.ป.ช.สามารถถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้ได้ ส่วนเรื่องการสอบสวน พนักงานสอบสวนจะได้อบรมการสอบสวนให้แก่พนักงาน ป.ป.ช. เป็นการแลกเปลี่ยนกันในเชิงเทคนิค เพื่อพัฒนาบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน โดยประธาน ป.ป.ช. ได้เห็นชอบในการประสานความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน .-สำนักข่าวไทย