ทำเนียบรัฐบาล 2 มิ.ย.-ศบค.เผย 2 เดือนพบคลัสเตอร์โรงงาน 10 จังหวัด ขณะโรงงานขนาดใหญ่ร่วมมือทำแบบประเมินป้องกันโรค อนามัยสิ่งแวดล้อมเพียงร้อยละ 20 ย้ำต้องทำให้ครบภายใน 15 มิ.ย.นี้
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวว่า ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กหารือการแพร่ระบาดภายในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ที่จังหวัดสระบุรี โดยมีพนักงานจำนวนมาก แบ่งเป็นพนักงานชาวไทยกว่า 4,000 คนและชาวต่างชาติกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา การติดเชื้อมีทั้งในส่วนของพนักงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ฝ่ายเตรียมการผลิตและในส่วนของออฟฟิศ โดยพบพนักงานชาวกัมพูชาติดเชื้อมากกว่าคนไทย 3.9 เท่า
“เนื่องจากพักอาศัยร่วมกันในหอพักที่ค่อนข้างแออัด 1 ห้องอยู่รวมกัม 3คน รวมถึงรวมกลุ่มและใช้ส่วนกลางร่วมกัน ขณะที่กลุ่มแรงงานช่าง พบว่าติดเชื้อน้อย เพราะมีมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ค่อนข้างดีและมีความระมัดระวังสูง ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มีคลัสเตอร์โรงงาน จำนวน 10 โรงงาน ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในโรงงาน คือเรื่องสถานที่แออัด การระบายอากาศไม่ดีพอ จุดสัมผัสร่วมกันไม่สะอาด รวมถึงกิจกรรมที่ทำร่วมกัน โดยในโรงงานขนาดใหญ่พบการติดเชื้อมากถึงร้อยละ 20 โรงงานขนาดกลางและเล็กมีการติดเชื้อร้อยละ 5” ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุมได้จัดทำแผนมาตรการป้องกันการควบคุมโรคภายในโรงงาน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อและลดความรุนแรงไม่ให้แพร่กระจายไปในชุมชนเป็นวงกว้าง และเพื่อปกป้องเศรษฐกิจและสังคม ให้สถานประกอบการปลอดภัยและดำเนินกิจการได้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด โดยมีโรงงานที่ได้ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงอุตสาหกรรมมีทั้งหมด 63,029 แห่ง ซึ่งช่วงที่ผ่านมากรมอนามัย ได้รณรงค์ให้โรงงานและตลาด ใช้เครื่องมือดำเนินการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล Good factory practice คือ Thai stop covid+ (TSC) ในการทำแบบประเมินทางด้านป้องกันโรค ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อ แต่ในช่วงที่ผ่านมามีเพียง 2,800 โรงงานที่เข้าไปทำแบบประเมิน โดยเฉพาะในโรงงานขนาดใหญ่ทำแบบประเมินเพียง 650 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 20 จึงเน้นย้ำว่าภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ โรงงานขนาดใหญ่ทุกโรงงานจะต้องเข้าไปทำแบบประเมินให้ครบ 100% และขอให้ตอบตามความเป็นจริง หากประเมินไม่ผ่าน ไม่ต้องกังวล เพราะจะมีทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ ทำให้โรงงานปลอดภัย
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้กรมควบคุมโรคทบทวนรายละเอียดมาตรการการจัดการของแคมป์คนงาน ควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในแคมป์ เพื่อให้สถานประกอบการและแคมป์คนงานเข้าใจตรงกันอย่างถูกต้อง เพราะขณะนี้มีหลายแคมป์ที่คิดว่าปฏิบัติถูกต้องและเพียงพอแล้ว แต่ยังทำให้เกิดการแพร่ระบาด ดังนั้น กรมควบคุมโรคจะมีข้อปฏิบัติอย่างละเอียดให้แคมป์คนงาน และหากไม่ปฏิบัติตาม ให้ฝ่ายความมั่นคงสนับสนุนการทำงานของกทม.และกรมควบคุมโรค
“ขอฝากไปยังเจ้าของสถานประกอบการและแคมป์คนงาน ว่าภาครัฐไม่ต้องการใช้บทลงโทษ แต่ขอความร่วมมือ เพื่อดูแลคนงานทุกคนให้เกิดความปลอดภัย และแม้มาตรการของรัฐจะมีความเข้มข้น แต่หากผู้ประกอบการและสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตาม ประชาชนก็จะไม่ปลอดภัยเช่นกัน” พญ.อภิสมัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย