กรุงเทพฯ 23 พ.ค. – นายกรัฐมนตรี กำชับบังคับใช้กฎหมายป้องปรามการทำประมงผิดกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศเข้มงวด ดูแลภาคส่งออกควบคู่กับการดูแลประมงพื้นบ้าน
วันที่ 23 พ.ค.64 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาและมาตรการป้องปรามการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ให้บังคับใช้กฎหมายที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วให้เข้มงวดและต่อเนื่อง เพราะการดำเนินงานที่เข้มงวดได้ จะส่งผลสำคัญต่อทั้งภาพลักษณ์ และความสามารถในการส่งออกอาหารทะเลของประเทศไทยในระยะยาว
“สภาพัฒน์ได้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2564 แสดงข้อมูลว่า การส่งออกของไทยได้กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักๆ นายกรัฐมนตรีจึงได้กำชับให้มีการดำเนินทุกมาตรการที่จะสนับสนุนการส่งออก ซึ่งอาหารทะเลเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทยด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แต่นายกรัฐมนตรีก็ย้ำว่า การดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ จะต้องทำควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบต่อประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชน โดยให้มีกลไกการแก้ไขปัญหา บรรเทาผลกระทบที่มีทุกภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งประชาชน ประชาสังคม ภาครัฐ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาครอบคลุมประเด็นที่รอบด้าน สร้างความเชื่อมั่นต่ออาหารทะเลไทยของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ไปพร้อมกับการทำประมงที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ รายงานของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในหลายด้าน เช่น การปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 17 ฉบับ การบริหารจัดการประมงทะเลไทย และการจัดการกองเรือไทย โดยมีการบริหารจัดการจำนวนเรือประมง เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณทรัพยากรประมง การออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์และใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำ มีการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงให้เป็นไปตามกฎระเบียบทั้งในและระเบียบระหว่างประเทศ บังคับใช้กฎหมายด้วยมาตรการทางปกครองควบคู่กับการใช้บทลงโทษทางอาญา การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วยมาตรการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงไปยังแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ ตลอดจนจัดระเบียบแรงงานประมง โดยมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจำเรือ และป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ปราบปรามการค้ามนุษย์ และดำเนินมาตรการในการพัฒนาการประมงของไทยให้ปลอดสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU-Free Thailand). – สำนักข่าวไทย