ทำเนียบฯ 16 พ.ค. – ศบค. เผยยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 2,302 ตายเพิ่ม 22 ราย ยอดป่วยสะสมทะลุ 1 แสนราย สั่ง ก.แรงงาน-กรมควบคุมโรค ดูแลคนไทยกลับประเทศ รับเตียงระดับสีแดงตึงตัว เฝ้าระวังการติดเชื้อจากญาติผู้ป่วยในโรงพยาบาล
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การติดเชื้อประจำวัน ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,302 ราย ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 101,447 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 38,377 ราย หายเพิ่ม 2,136 ราย รักษาอยู่ 35,055 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 21,462 ราย และโรงพยาบาลสนาม 13,593 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,228 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 408 ราย เสียชีวิตใหม่ 24 ราย รวมเสียชีวิต 589 คน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยจากเรือนจำในวันนี้พบ 1,219 ราย แต่จะมีการนำไปรวมกับตัวเลขในวันพรุ่งนี้
โดยผู้เสียชีวิตแบ่งเป็นผู้ป่วยชาย 13 ราย และผู้ป่วยหญิง 11 ราย ค่ากลางอายุ 76 ปี ระหว่างอายุ 39- 91 ปี แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 8 ราย, ชลบุรี, ปทุมธานี และกาญจนบุรี จังหวัดละ 2 ราย, เชียงใหม่, ศรีสะเกษ, ราชบุรี, สมุทรปราการ, ขอนแก่น, นครสวรรค์, พิจิตร, ระยอง, นครนายก และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งมี 3 รายที่พบเชื้อเสียชีวิตในวันเดียวกัน โดยพบว่าโรคที่มีความเสี่ยง คือ ปอดเรื้อรัง ที่เกิดจากการดูดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้มีความเสี่ยงเกิดปอดอักเสบอย่างรุนแรง รวมถึงผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเช่นกัน
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่าทิศทางผู้ติดเชื้อรายวันตั้งแต่ 1 เมษายนถึง 16 พฤษภาคม ยอดสะสมอยู่ที่ 72,584 ราย รายงานของผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเป็นสิ่งที่ทางกรมควบคุมโรครายงานและติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งวันนี้มีผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ 23 ราย มี 3 กลุ่มประเทศ ที่ประชุมศบค. ชุดเล็ก มีความเป็นห่วง คือ กลุ่มที่เดินทางจากเมียนมา โดยช่องทางธรรมชาติ ซึ่งมีรายงานพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย ส่วนที่เดินทางจากกัมพูชามี 14 รายในจำนวนนี้ 13 รายเป็นคนไทยและอีก 1 รายเป็นชาวออสเตรีย และอีกส่วน คือประเทศมาเลเซีย มีการเดินทางข้ามที่ด่านข้ามแดนถาวรทางบก 3 ราย จึงมอบให้กระทรวงแรงงานหารือกับกรมควบคุมโรคให้กลุ่มคนที่จะเดินทางเข้าประเทศอยู่ในความดูแลป้องกันการแพร่เชื้อและให้ผู้ติดเชื้อ รับการรักษาที่ปลอดภัย
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้ 10 อันดับแรกได้แก่กรุงเทพมหานคร 1,218 ปทุมธานี 243 สมุทรปราการ 117 นนทบุรี 103 ประจวบคีรีขันธ์ 66 ชลบุรี 48 สมุทรสาคร 47 สงขลา 37 พระนครศรีอยุธยา 37 และสุราษฎร์ธานี 27 ส่วนยอดสะสมสูงสุดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึง 16 พฤษภาคม กรุงเทพมหานคร 25,942 นนทบุรี 4,473 สมุทรปราการ 4,053 เชียงใหม่ 3,979 ชลบุรี 3,690 ปทุมธานี 2,204 สมุทรสาคร 1,814 ประจวบคีรีขันธ์ 1,510 สุราษฎร์ธานี 1,414 และสงขลา 970 โดยมีจังหวัดที่ไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อมี 19 จังหวัดได้แก่ ลำพูน อ่างทอง นครพนม ตราด ตาก น่าน สุโขทัย สมุทรสงคราม กาฬสินธุ์ ชุมพร อุตรดิตถ์ ชัยนาจ หนองคาย อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน หนองบัวลำภู บึงกาฬ อุทัยธานี และสตูล
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการรายงานว่ามีความกังวลในคลัสเตอร์พื้นที่ต่างๆ อย่างจังหวัดราชบุรี มีรายงานการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยพบผู้ป่วยที่ยืนยันรายแรกเป็นผู้หญิงอายุ 31 ปี เป็นญาติผู้ป่วยเข้าไปเฝ้าแม่ที่ป่วยในโรงพยาบาลในส่วนของวอร์ดอายุรกรรมหญิง ตั้งแต่วันที่ 23-28 เมษายน และรายงานผลบวกยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อไปยังผู้ป่วยรายอื่นที่อยู่ในหอผู้ป่วยเดียวกัน 9 ราย เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยรายอื่นๆ 6 ราย จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ไปใช้ชีวิตกับครอบครัวทำให้แม่ของเจ้าหน้าที่คนหนึ่งติดเชื้อ ทำให้เกิดการติดเชื้อรวม 17 ราย และมีรายงานเพิ่มเติมว่าผู้ป่วยที่มีการยืนยันติดเชื้อมีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย ทั้งนี้จากการวิเคราะห์สาเหตุกรมควบคุมโรคเสนอมาตรการปิดวอร์ดอายุรกรรมหญิง ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม และมีการทบทวนเรื่องการคัดแยกผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้มีประวัติโรคระบบทางเดินหายใจ ให้แยกจากผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น และสิ่งที่สำคัญการที่ญาติเข้ามาเฝ้าผู้ป่วย พบพฤติกรรมการพูดคุย การจับกลุ่ม รวมทั้งรับประทานอาหารร่วมกันในวอร์ดที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ส่วนนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเข้าไปดูแลและครอบคลุมให้การระบาดนั้นอยู่ในพื้นที่จำกัด และทุกโรงพยาบาลจะต้องเข้มงวดในส่วนของญาติผู้ป่วยที่เข้ามาเฝ้าดูแลในโรงพยาบาล
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวอีกว่า สถานการณ์วันนี้ระดับความต้องการเตียงในระดับสีเขียวเข้มและเขียวอ่อนยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอรองรับได้ แต่ที่เป็นห่วงคือเตียงในระดับสีเหลืองและสีแดง ซึ่งในส่วนของเตียงสีแดงค่อนข้างจะตึงตัว ตามที่กรมการแพทย์รายงานความต้องการเตียงแอดมิท 805 ราย แอดมิทแล้ว 314 ราย จัดสรรแล้วรอดำเนินการ 439 ราย มีผู้ป่วยจำนวน 52 ราย ที่ยังติดต่อไม่ได้ เนื่องจากปฏิเสธเตียง คือได้พยายามติดต่อโรงพยาบาลด้วยตนเองจึงขอรอ หรือบางรายมีการตรวจด้วยกันหลายคนในครอบครัว จึงอยากรอผลตรวจของสมาชิกอื่นๆ ทำให้เจ้าหน้าที่มีความเป็นห่วง เพราะการที่ปฏิเสธไม่ได้เข้าสู่ระบบ อาจจะทำให้อาการแย่ลงได้ .-สำนักข่าวไทย