กรุงเทพฯ 11 พ.ค.-“ทิพานัน” ไลฟ์คุยรองเลขาฯสปสช.ยันรัฐบาลดูแลประชาชนตั้งแต่ก่อนติดเชื้อโควิดจนรักษาหายฟรีทุกรพ.ทั้งรัฐ-เอกชน ไม่สองมาตรฐาน พร้อมชดเชยหากพบอาการข้างเคียง 4 แสนบาท เผยรัฐบาลอัดเม็ดเงินหนุนสปสช.เต็มที่
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวในไลฟ์พูดคุยกับทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กชื่อ Onn-Tipanan Sirichana เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ได้สอบถามถึงบทบาทของ สปสช.ในการดูแลสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งทพ.อรรถพรระบุว่าตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด บอร์ดสปสช.ได้บรรจุเรื่องของการรักษาโควดิให้เป็นสิทธิประโยชน์ หมายความว่าผู้เจ็บป่วยจากไวรัสโควิด-19 สามารถรักษาได้โดยไม่เสียเงิน ซึ่งกำหนดให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“หลังจากตรวจแล้วแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อ หากไม่ติดเชื้อให้กักตัวครบ 14 วัน ตรวจซ้ำ ถ้าไม่มีเชื้อก็ปลอดภัย แต่ถ้ามีเชื้อต้องเข้ารับการรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลในสังกัดของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งสปสช.รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องไอซียู ห้องความดันลบ ค่ายา ค่าจิปาถะ สปสช. จ่ายแทนประชาชนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิดฟรี มีกติกาว่าหากสงสัยว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแล้วเล่าประวัติกับแพทย์หรือพยาบาลให้วินิจฉัยว่าเข้าข่ายให้ตรวจได้จึงเข้าเงื่อนไขตรวจฟรี แต่ในกรณีที่บางคนเข้าไปตรวจแบบไดรฟ์ทรู หรือขับรถเข้าไปตรวจไม่ได้พบแพทย์ก็ไม่เข้าเกณฑ์ตรวจฟรี ดังนั้น จึงต้องเป็นดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งการออกตรวจคัดกรองเชิงรุกก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน” น.ส.ทิพานัน ระบุ
น.ส.ทิพานัน ระบุว่า กรณีครอบครัวอยู่ในบ้านเดียวกันหลายคนและมีคนหนึ่งติดโควิดอีก 6 คนที่เหลือจำเป็นต้องตรวจหรือไม่ รองเลขาฯสปสช.กล่าวว่ากรณีดังกล่าวเข้าเกณฑ์เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวติดโควิด และใช้ชีวิตร่วมกัน มีโอกาสใช้ของและรับประทานอาหารร่วมกัน เมื่อคุณหมอวินิจฉัยแล้ว ประชาชนไม่ต้องจ่ายแต่รัฐบาลจ่ายค่าตรวจ แทนที่จะเรียกเก็บจากประชาชนมาเรียกเก็บจาก ซึ่งรัฐบาลบอกสปสช.ให้ทำให้เต็มที่ ถ้างบประมาณหมด จะเติมเงินให้ ดังนั้นโรงพยาบาลมั่นใจได้ว่า ถ้าเข้าเกณฑ์แล้วตรวจ รัฐบาลโดยสปสช.จะจ่ายให้
“เมื่อประชาชนตรวจแล้วพบเป็นโควิดสามารถรักษาฟรี ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งทพ.อรรถพร ยืนยันว่ากติกาคือโรงพยาบาลไหนตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดแล้วต้องรับรักษาเป็นคนไข้ในของโรงพยาบาลนั้น หากจะส่งต่อให้โรงพยาบาลอื่นจะต้องเป็นโรงพยาบาลในเครือข่าย แต่มีบางกรณียกตัวอย่างผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาล ก.แล้วบอกให้รอเตียงระหว่างรอเตียง ไปติดต่อกับโรงพยาบาลเอกชนอื่น ขอไปรักษาตัวอย่างนี้ก้ำกึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนสปสช.รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลรวมทุกรายการที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้รวมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างอื่น เช่น ห้องพิเศษ เพิ่มเติม และบริการอื่นที่ไม่ใช่ความจำเป็นพื้นฐาน ต้องจ่ายเงินเอง ยืนยันว่าไม่มีสองมาตรฐาน เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ก็มุ่งหวังรักษาให้หายเร็วที่สุด ต้องถึงมือแพทย์ให้เร็วและดูแลให้เร็วคือสิ่งที่ดีที่สุด” น.ส.ทิพานัน ระบุ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ได้สอบถามถึงข้อห่วงใยของพี่น้องประชาชนว่าหากไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน ว่าค่ารักษา แพงมาก ที่จะเรียกเก็บจากสปสช.แพงเกินไปหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ รองเลขาฯ สปสช.อธิบายว่า โรงพยาบาลเอกชนแยกออกเป็น 2 กลุ่มที่อยู่ในระบบ สปสช. ส่วนนอกสปสช.มีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพดูแลอยู่และประกาศว่าโรคระบาดโควิด เป็นโรคระบาดร้ายแรงรงต้องดูแลเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะไปโรงพยาบาลไหนต้องดูแล ซึ่งจะเรียกเก็บตามรายการและราคาตามบัญชีกลางที่ตกลงกันไว้
“ส่วนที่ไม่ได้อยู่ในรายการ ไม่สามารถเรียกเก็บจากคนไข้ ให้เสนอไปที่อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเพื่อเสนอครม.ให้อนุมัติต่อไป แต่ ณ วันนี้ ที่เห็นข่าวออกมาเป็นใบแจ้งราคาสูงนั้น เป็นระบบของเอกชนในการแจ้งค่ารักษา แต่สุดท้ายแล้ว ไม่สามารถเรียกเก็บจากคนไข้ตามนั้นได้ ประชาชนไม่ต้องเสียเงิน ส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด รัฐบาลจะจ่ายให้ ซึ่งปัจจุบันสปสช.จ่ายค่าคัดกรองไปแล้วเป็นพันล้านทั่วประเทศ ย้ำว่ารักษาฟรีและโรงพยาบาลอย่าไปเรียกเก็บจากพี่น้องประชาชน ขอให้เรียกเก็บจากสปสช.” น.ส.ทิพานัน ระบุ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ได้สอบถามถึงการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน กรณีมีผู้ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวีคซีนป้องกันโควิด ซึ่งรองเลขาฯสปสช. ระบุว่ารัฐาลอยากให้ฉีดได้เร็วที่สุด อยากให้มาใช้ชีวิตปกติ วัคซีนคือคำตอบ บอร์ดสปสช.มีมติเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ตามมาตรา 41 คนไทยทุกคนไม่ว่าใช้สิทธิการรักษาอะไร ถ้าไปฉีดวัคซีนแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บต่อเนื่อง มีเงินชดเชยให้ตามจริงไม่เกิน 1 แสนบาท ถ้าถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ชดเชยไม่เกิน2.4 แสนบาท และถึงขั้นเสียชีวิต ชดเชยไม่เกิน 4 แสนบาท
“กระบวนการคือฉีดวัคซีนโรงพยาบาลไหน ถ้าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ให้ แจ้งโรงพยาบาลนั้น อยู่ต่างจังหวัดสามารถแจ้งสาธารณสุขจังหวัด หรือสปสช.เขตได้ ทั้ง 3 หน่วยจะส่งเรื่องให้อนุกรรมการระดับเขตพิจารณาใน 1 สัปดาห์ หากพบว่าอยู่ในเกณฑ์ช่วยเหลือ จะได้รับเงินไม่เกิน 5 วันทำการ ซึ่งสปสช.พยายามทำทุกอย่างให้เร็ว กำหนดกติกาใหชัดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ซึ่งหากมีข้อสงสัยอื่นสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน 1330” น.ส.ทิพานัน ระบุ
.ส.ทิพานัน ระบุว่า รัฐบาลดูแลพี่น้องประชาชนตั้งแต้ต้นทางถึงปลายทาง ตั้งแต่ตรวจฟรี รักษาฟรีและฉีดวัคซีนฟรีด้วย ซึ่งต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสปสช.ที่ให้ความมั่นใจกับประชาชน จึงเชิญชวนพี่น้องประชาชนฉีดวัคซีน อย่าหลงเชื่อและแชร์ข่าวปลอม ซึ่งล่าสุดพบว่ามีกรณีที่หญิงสาวนำภาพผู้ป่วยรายอื่นแอบอ้างเป็นภาพของตนเองว่าได้ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนจนเป็นผื่นนั้น กำลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีฐานผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่สร้างความหวาดกลัวและตื่นตระหนกให้กับประชาชน ดังนั้น ประขาชนต้องรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร ขอวิงวอนให้ช่วยกันแชร์ข่าวจริงเพื่อที่วิกฤติจะได้คลี่คลายโดยเร็วและกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ.-สำนักข่าวไทย