ทำเนียบฯ 8 พ.ค.- ศบค. เผยไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 2,419 ราย เสียชีวิต 19 ราย อาการหนัก 1,138 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 380 ราย เฝ้าระวังคลัสเตอร์ใหม่อีก 4 แห่งในพื้นที่ กทม.
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,419 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,890 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 519 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 10 ราย โดยผู้ป่วยยืนยันสะสม 81,274 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 2,247 ราย สะสม 51,419 ราย กำลังรักษาอยู่ 29,473 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 21,087 ราย และโรงพยาบาลสนาม 9,384 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มเป็น 1,138 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 380 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย รวมเสียชีวิต 382 คน
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 19 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 11 ราย อยู่ใน กทม. 7 ราย สมุทรปราการ ปทุมธานี จังหวัดละ 2 ราย นครสวรรค์ สมุทรสาคร กาญจนบุรี ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา นครปฐม และสุรินทร์ จังหวัดละ 1 ราย ส่วนมากมีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูงเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 คือ จากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว อายุน้อยสุด 42 ปี อายุมากสุด 93 ปี
ส่วน 10 อันดับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 8 พ.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 1,112 ราย 2. นนทบุรี 217 ราย 3. สมุทรปราการ 114 ราย 4. ประจวบคีรีขันธ์ 100 ราย 5. ปทุมธานี 93 ราย 6. สมุทรสาคร 77 ราย 7. ชลบุรี 72 ราย 8. ปราจีนบุรี 63 ราย 9. ระนอง 50 ราย 10. สุราษฎร์ธานี 35 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ตอนนี้ต้องจับตาคลัสเตอร์สำคัญในพื้นที่ กทม. ที่อยู่ระหว่างเฝ้าระวัง คือ ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, ชุมชนวัดญวนคลองลำปัก เขตดุสิต, ปากคลองตลาด เขตพระนคร, ศูนย์การค้าเขตพระนคร เขตพระนคร ส่วนเขตอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯยังมีการตรวจเชิงรุกเช่นกัน โดย 10 อันดับเขตที่พบผู้ติดเชื้อรายงานสูงสุด ในวันที่ 7 พ.ค. คือ คลองเตย ราชเทวี ปทุมวันบางกะปิ จตุจักร ดอนเมือง ลาดพร้าวดุสิต ยานนาวาและวังทองหลาง ขณะที่ 4 เขต ที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ คือ ตลิ่งชันประเวศ คลองสาน และสวนหลวง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ตรวจ ตรวจแต่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ ซึ่งกรุงเทพฯ ระดมตรวจคลัสเตอร์ที่เรียกว่าไฟไหม้โดยในวันเดียวกันนี้จะมีการลงพื้นที่ตรวจที่สนามกีฬาธูปะเตมีย์ จะมีการจัดรถพระราชทาน ในชุมชมวัดสะพาน ชุมชนคลองเตย สำเพ็ง อ่อนนุช แฟลตคลองเตยและบ่อนไก่ ทั้งนี้ ขอความกรุณาทางประชาชนชุมชนและผู้นำชุมชนท่านรู้จักพื้นที่ดีที่สุด ขอให้ช่วยกันระดมตรวจ เน้นตรวจพื้นที่เสี่ยงและคลัสเตอร์สำคัญในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีการระดมตรวจให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการสุ่มตรวจเขตอื่นๆที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อและมีรายงานผู้ติดเชื้อต่ำ จะยังต้องมีการสุ่มตรวจ
โดยปัจจัยเสี่ยงในกรุงเทพฯ ที่มีความเสี่ยงที่กังวล คือตลาด ชุมชนและการขนส่งสาธารณะ มีการรายงานเข้ามาว่าปัจจัยเสี่ยงกลุ่มก้อนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยผู้ป่วยละลอกใหม่ในเดือนเม.ย.ตามพื้นที่และปัจจัยเสี่ยงข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย.-วันที่ 8 พ.ค.พบว่า ผู้ป่วยที่พบประวัติไปในสถานที่เสี่ยงตลาด ชุมชน และระบบขนส่งสาธารณะ ในวันเดียวกันนี้กรุงเทพฯพบ 47 ราย พื้นที่ปริมณฑล 19 ราย และผู้ป่วยที่พบประวัติไปในสถานที่เสี่ยง ชุมชน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน โดยในกรุงเทพฯวันเดียวกันนี้ 528 ราย และพื้นที่ปริมณฑล 384 ราย
ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก พบยอดผู้ติดเชื้อรวม 157,530,729 ราย อาการรุนแรง 108,598 ราย รักษาหายแล้ว 134,954,947 ราย เสียชีวิต 3,283,727 ราย สำหรับอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,418,826 ราย 2. อินเดีย จำนวน 21,886,611 ราย 3. บราซิล จำนวน 15,087,360 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,747,214 ราย และ5. ตุรกี จำนวน 4,998,089 รายโดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 99 จำนวน 81,274 ราย.-สำนักข่าวไทย