กรุงเทพฯ 2 พ.ค. – นายกรัฐมนตรี กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันแผนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระตุ้นภาคการผลิต การขนส่ง ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีข้อกำชับกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยว่า แม้ในช่วงระยะที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กิจกรรมภาคการผลิตอุตสาหกรรมจะลดลงไปส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากทั้งกิจกรรมการผลิตอุตสาหกรรม และภาคการขนส่ง
“นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่า เมื่อได้มีการกำหนดเป้าหมายแล้ว ประเทศไทยจะต้องผลักดันภาคส่วนต่างๆ ทั้งส่วนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม การขนส่งให้ได้ตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับนานาชาติที่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก บางประเทศกำหนดเป้าหมายการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ ประเทศไทยจะต้องเป็นส่วนหนึ่งกับนานาชาติในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ต้องอาศัยทั้งการลงมือปฏิบัติและใช้เวลาการเปลี่ยนแปลง จึงจะเกิดขึ้นได้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการลงทุน ทั้งภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำการสื่อสารและมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับปรุงการผลิต รวมถึงลงทุนในเทคโนโลยี มีนวัตกรรมใหม่เพื่อไปสู่การผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งนอกจากจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยลดลง แนวทางดังกล่าวยังเป็นกระแสของโลกที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจสินค้าจากผู้ผลิตที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 ประเทศไทยได้จัดส่งข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี พ.ศ. 2563 ไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้ได้ 20-25% จากกรณีปกติ ภายในปี 2573
หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ได้มีการอนุมัติงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. – สำนักข่าวไทย