รัฐสภา 27 เม.ย.-ประธาน กมธ.กิจการสภาฯ ชี้ข้อเสนอใช้รัฐสภาเป็นโรงพยาบาลสนาม เป็นไปไม่ได้ เชื่อปัญหาไม่ได้อยู่ที่สถานที่แต่อยู่ที่ความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมประเมินสถานการณ์ใน 1 สัปดาห์ก่อนวางแนวทางการประชุมของสภาฯ
นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ระบุถึงสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการได้ติดตามสถานการณ์และภาพรวมมาโดยตลอดโดยได้มีการประสานเป็นการภายในกับทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อวางมาตรการ เนื่องจากในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเปิดสมัยการประชุมของสภาฯและจะมีการพิจารณากฎหมายสำคัญโดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งตามกรอบเวลาจะเข้าสู่การพิจารณาวาระแรกในช่วงวันที่ 26-27 พ.ค.นี้เบื้องต้นทางกรรมาธิการขอติดตามสถานการณ์ในอีก 1 สัปดาห์เพื่อประเมินว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังคงมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเตรียมเชิญหน่วยงานด้านสาธารณสุข พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารืออีกครั้งเพื่อให้ข้อมูลประกอบในการกำหนดแนวทางการทำงานของสภาร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะนัดประชุมในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้
นายอนันต์ ย้ำว่าวันนี้สิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องการคือการกระจายและฉีดวัคซีนไปยังพี่น้องประชาชนให้อย่างทั่วถึงและเร็วที่สุด รวมทั้งรับฟังปัญหาของผู้ปฏิบัติงานในระดับล่างเพื่อการทำงานมีความคล่องตัว ไม่เกิดให้อุปสรรค และสิ่งสำคัญคือทุกคนต้องมีวินัยและไม่ปกปิดไทม์ไลน์ตนเอง โดยทุกหน่วยงานต้องมีมาตรการอย่างเข้มงวดไม่ละหลวม วันนี้ผู้ที่ทำงานหนักและต้องส่งกำลังใจอย่างมากคือเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขที่ทำงานกันอย่างหนัก จึงอยากให้ทุกคนอดทนและ เข้มงวดมาตรการด้านสาธารณสุขโดยทุกฝ่ายจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยหวังว่าการติดเชื้อนั้นน่าจะลดลงตามลำดับ
ส่วนกรณีที่นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอให้ใช้รัฐสภาเป็นโรงพยาบาลสนามนั้น นายอำนวย ระบุว่า คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากกระบวนการทางนิติบัญญัติยังคงต้องเดินหน้าต่อไป หากใช้พื้นที่อาคารรัฐสภาเป็นโรงพยาบาลสนามนั้นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องหยุดชะงัก โดยมองว่าสถานที่อื่นที่มีพื้นที่กว้างขวางและใหญ่โตก็สามารถปรับเป็นโรงพยาบาลสนามได้ เชื่อว่าประเด็นเรื่องของสถานที่ไม่ใช่ปัญหาแต่สิ่งสำคัญคือจำนวน บุคลากรทางการแพทย์และความพร้อมของอุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ที่ขณะนี้มีค่อนข้างจำกัด.-สำนักข่าวไทย