ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ 26 -เม.ย.-นายกฯกล่าวถ้อยแถลงประชุมเอสแคป ชี้โควิดเป็นภัยคุกคามร่วม เป็นบททดสอบที่ทุกประเทศต้องร่วมกันฟื้นฟูภูมิภาคหลังวิกฤติให้กลับมาแข็งงแรง ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้ได้รับการบริการทางการแพทย์เท่าเทียมกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงผ่านระบบวีดิทัศน์ ในพิธีเปิดการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก(ESCAP) สมัยที่ 77 ภายใต้หัวข้อหลัก “การฟื้นฟูกลับมาให้ดีกว่าเดิมจากวิกฤตผ่านความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียเเละเเปซิฟิก” (Building back better from crises through regional cooperation in Asia and the Pacific)
นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการประชุมประจำปีของเอสแคปในปีนี้ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเจ้าภาพของเอสแคป การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็น“ภัยคุกคามร่วม” ของมวลมนุษยชาติ ถือเป็นบททดสอบความร่วมมือภายในประเทศ และระหว่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูภายหลังจากวิกฤตให้กลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม (Build Back Better) และเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤติอื่น ๆ ในอนาคต โดยไทยตระหนักว่า การฟื้นฟูต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ครอบคลุมทั้งด้านสาธารณสุขคือเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีน การบริการทางการแพทย์อย่างเสมอภาค
“ด้านสังคม เพิ่มความเข้มแข็งให้ระบบคุ้มครองทางสังคม เพื่อรักษาสวัสดิภาพ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ด้านเศรษฐกิจ โดยพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่การสร้างความเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะเดียวกันต้องตระหนักถึงการสร้างความเจริญเติบโตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปรับวิถีเศรษฐกิจไทยจากการผลิตมาก แต่สร้างรายได้น้อย ไปสู่การผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การฟื้นฟูวิกฤติ ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์จากการแข่งขัน มาสู่ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ เพิ่มขีดความสามารถของกันและกัน มุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยืดหยุ่นและยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมและยืนยันที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของเอสแคป เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศสมาชิก ทั้งทางด้านเทคนิค การรับมือกับภัยพิบัติ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ประเทศไทยในฐานะเจ้าบ้านของเอสแคป ยินดีให้ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ขับเคลื่อนการดำเนินงานของเอสแคปอย่างเข้มแข็งต่อไป เพื่อฟื้นฟูภูมิภาคให้กลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เติบโตอย่างสมดุลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อส่งต่อชีวิตที่ดีให้กับอนุชนรุ่นหลังต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมของเอสแคปในปีนี้ ให้ความสำคัญกับการร่วมหารือถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อแสวงหาแนวทางการปรับตัวและฟื้นกลับมาให้ดีกว่าเดิม รวมทั้งแสวงหาภูมิคุ้มกัน และเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคให้เข้มแข็งเพื่อรับมือกับวิกฤตในอนาคตผ่าน 4 สาขาที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ 1. การขยายการคุ้มครองทางสังคม 2. การลงทุนเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน 3. สร้างความเข้มแข็งให้กับการเชื่อมต่อและห่วงโซ่อุปทาน และ 4. ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
การประชุมครั้งนี้มีบุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมในช่วงพิธีเปิด ได้แก่ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน ประธานาธิบดีรัฐคิริบาส ประธานาธิบดีรัฐอุซเบกิสถาน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ประธานสมัชชาสหประชาชาติ และเลขาธิการสหประชาชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐคาซัคสถาน เป็นประธานการประชุม.-สำนักข่าวไทย