ทำเนียบรัฐบาล 21 เม.ย.-“พล.อ.ประวิตร” ประชุมกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง สั่งเดินหน้า 24 โครงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เร่งบรรเทาผลกระทบประชาชน 8 จังหวัดริมโขง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 โดยที่ประชุมรับทราบสถานการณ์แม่น้ำโขงจากปัญหาภาพรวมการผันผวนของปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค 64 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยริมฝั่งแม่น้ำโขงในการดำเนินชีวิต อาทิ การเลี้ยงปลาในกระชัง การเดินเรือขนาดเล็ก เป็นต้น ต่อมากระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน เพื่อแก้ปัญหาและได้รับความร่วมมือด้วยดี กระทั่งระดับน้ำเข้าสู่ภาวะปกติแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมคณะมนตรีฯ แม่น้ำโขงเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 ที่เห็นชอบกรอบความร่วมมือทั้งการพัฒนาลุ่มน้ำโขง การจัดการสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อม และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
จากนั้น คณะกรรมการฯ ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบเรื่องสำคัญ ได้แก่การเตรียมจัดการประชุมสุดยอด ผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 การประชุมคณะมนตรีครั้งที่ 28 และการประชุมร่วมระหว่างคณะมนตรีกับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนาครั้งที่ 26 ในฐานะไทยเป็นประธานคณะมนตรีฯปีพ.ศ.2564 ประมาณช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ covid-19 ด้วย และเห็นชอบให้ทำการศึกษาการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง โดยให้สทนช.ร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเร่งประสานงานกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) รวมถึงเห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการระดับประเทศ (พ.ศ.2564-2568) จำนวน 24 โครงการ เพื่อบริหารจัดการแม่น้ำโขง อย่างยั่งยืน สอดคล้อง แผนแม่บทบริหารทรัพยากรน้ำ 20 ปี

พล.อ.ประวิตร สั่งการให้สทนช.กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนงานที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว โดยขอให้มีความคืบหน้าตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม ต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับสูงสุดภายใต้กรอบความร่วมมือและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศให้มากขึ้น ที่สำคัญอย่างยิ่งจะต้องเร่งขับเคลื่อนโครงการที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน จากผลกระทบของประชาชน 8 จังหวัด ริมแม่น้ำโขงของไทยอย่างรีบด่วน.-สำนักข่าวไทย