อาคารรัฐสภา 9 เม.ย.-2 อดีตสมาชิกรัฐสภา “วัชระ-สมบูรณ์” ยื่นคัดค้าน “พรพิศ” เซ็นงดค่าปรับสภาใหม่ 1,200 ล้านบาท
นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ และนายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันยื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่สารบรรณถึง นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ระงับยับยั้งการงดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภา หลังจากมีข่าวว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือแจ้งต่อผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่แล้ว ว่า ได้อนุมัติให้งดการเรียกค่าปรับประมาณ 1,200 ล้านบาทไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเนื่องจาก สัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่กำหนดไว้ 900 วัน ค่าก่อสร้าง 12,280 ล้านบาท แต่ขยายระยะเวลาก่อสร้างถึง 4 ครั้ง รวม 1,864 วัน เป็นเวลา 2 เท่าของสัญญาเดิม รวมทั้งสิ้น 2,764 วัน และถึงวันนี้ รวม2,861 วัน ก็ยังไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งปรากฏว่ามีการจ้างผู้รับเหมาช่วงอันเป็นการผิดสัญญาจ้าง ที่สำคัญการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบ วัสดุอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน รายละเอียดทั้งหมดอยู่ที่ นาย วิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้เมื่อครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทต้องการขยายเวลาครั้งที่ 5 อีก 133 วัน แต่ถูกสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำความเห็นถึง 10 หน้า ระบุว่าเอกชนส่อว่าใช้สิทธิไม่สุจริตและไม่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ และเมื่อการก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา สภาต้องจ่ายค่าเช่าอาคารสถานที่ ค่าเช่าที่ประชุมรัฐสภา ค่าเช่าที่สัมมนา ค่าเช่ารถตู้รับส่งข้าราชการ ทางราชการเสียหายรวมนับพันล้านบาท
นายวัชระ กล่าวว่า เหตุผลที่ผู้รับจ้างเสนอในการงดค่าปรับ เป็นเหตุผลเดียวกับที่ผู้รับจ้างเคยยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงการขอขยายเวลาในการก่อสร้าง และสำนักกฎหมายเคยมีความเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างของผู้ว่าจ้าง ไม่สมเหตุสมผล ไม่เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ และเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่สามารถใช้เหตุผลดังกล่าวมาใช้ในการงดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างได้ เนื่องจากกำหนดเวลาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2563 แล้ว หากอนุมัติการงดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้าง เท่ากับผู้รับจ้างสามารถปฏิบัติงานได้ตามเวลาที่ตนต้องการ อีกทั้งได้รับการคุ้มครองจากการอนุมัติของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในการงดค่าปรับอีกด้วย เป็นการขัดกับข้อสัญญาจ้างการก่อสร้างที่ระบุอย่างชัดเจนให้มีการก่อสร้างภายใน 900 วัน หลังจากนี้ตนจะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป.-สำนักข่าวไทย