สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 9 เม.ย.- “พล.อ.วิทวัส” ปลื้ม 21 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน แก้ปัญหาประชาชนและการเมืองที่เกิดจากข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ย้ำยึดหลักนิติธรรม ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง เผยเสนอ ศบค.กำหนดมาตรการเข้มคุมโควิด-19 เห็นด้วยนโยบายปิดสถานบันเทิงสกัดเชื้อ
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานฯ ได้จัดงานทำบุญภายใน เนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี การสถาปนาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล โดยนมัสการพระเมธาวินัยรส (สุเทพ ปวิสิโก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นประธานพิธีสงฆ์ พร้อมบรรยายธรรมในหัวข้อ “วิถีธรรม วิถีไทย แบบนิวนอร์มอล” เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติหน้าที่แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า กว่า 21 ปี ที่องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน มุ่งมั่นทำงานด้วยความเป็นอิสระ เป็นกลาง เป็นธรรม ขับเคลื่อนสังคมไทยให้ตั้งอยู่บนความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล พร้อมยกระดับการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินไทยสู่ระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นในเวทีนานาชาติ โดยตั้งแต่ปี 2543 จนถึงมีนาคม 2564 ได้แก้ปัญหาประชาชนแล้ว 49,916 เรื่อง จากทั้งหมด 52,102 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 2,186 เรื่อง โดยหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง และกรมที่ดิน
พล.อ.วิทวัส พอใจการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน สามารถรักษาสิทธิเสรีภาพประชาชนได้มากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน จึงให้โอกาสผู้ตรวจฯ เสนอแก้ไขกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบคำสั่งต่างๆ ที่หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการและก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชนเกินสมควร ซึ่งไม่มีองค์กรใดมีอำนาจหน้าที่เท่าผู้ตรวจการแผ่นดิน และจะเห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหาอันเนื่องจากกฎข้อบังคับและกฎหมายในอดีตที่ออกจากสถานการณ์ในขณะนั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการที่ประชาชนไปบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งมีการส่งเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน
“การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยมองว่า สำนักงานผู้ตรวจฯ ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง เพราะก่อนที่จะส่งไปจะพิจารณาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากข้อกฎหมายและหลักนิติธรรมหรือไม่ แม้จะถูกกฎหมาย แต่ไม่ถูกหลักนิติธรรม ก็ควรจะส่งไปตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถคลี่คลายปัญหาความตึงเครียดทางการเมือง การเมืองก็คือการสร้างความมั่นคง ประโยชน์ให้กับประเทศชาติ” พล.อ.วิทวัส กล่าว
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังเปิดเผยมติผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีคำวินิจฉัยในการประชุมเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังพบมีการติดเชื้อโควิดในคลัสเตอร์ใหม่ที่เกิดจากสถานบันเทิง ผับ บาร์ ซึ่งก็น่าเป็นห่วง โดยได้รวบรวมข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ในสถานที่แคบๆ บางแห่ง ที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างตามมาตรการของ ศบค.ได้ และมีนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก รวมทั้งไม่สวมหน้ากาก มีการใช้แก้วเครื่องดื่มเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าปกติ 2-3 เท่า ด้วยเหตุนี้ ทางผู้ตรวจฯ จึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมไปยัง ศบค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าเรื่องของผับ บาร์ ควรมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ ในกรณีหากยังให้เปิดต่อ คงไว้ซึ่งมาตรการเว้นระยะห่าง การควบคุมเครื่องเสียง ระยะเวลาการเปิด-ปิด ต้องเป็นไปอย่างเข้มงวด
“ทราบว่าวันนี้ทางรัฐบาลก็เห็นสอดคล้องกับผู้ตรวจการแผ่นดิน และยังใช้มาตรการที่เข้มข้นมากกว่าอีก คือ ปิดสถานบันเทิงบางแห่ง บางพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นชอบด้วย โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ก็จะทำให้การติดเชื้อจากสถานบันเทิงน่าจะน้อยลง แต่ในส่วนของร้านอาหารไม่น่าจะอยู่ในข่ายเดียวกับสถานบันเทิง“ พล.อ.วิทวัส กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีรัฐมนตรีและคนดังปกปิดไทม์ไลน์ พล.อ.วิทวัส เห็นว่า เรื่องไทม์ไลน์เป็นเรื่องสิทธิส่วนตัว แต่สิ่งสำคัญจะเห็นได้ว่า การติดเชื้อโควิดครั้งนี้ไม่ได้มาจากประชาชนระดับล่าง เช่น ตลาดนัดชุมนุม ที่เคยกลัวกัน แต่กลับติดเชื้อจากสถานบันเทิง จนทำให้มีผู้ใหญ่ที่เข้าไปใช้บริการติดเชื้อ ซึ่งสถานที่ที่ท่านเข้าไปควรคำนึงว่าต้องไม่สุ่มเสี่ยงมาก.-สำนักข่าวไทย