กรุงเทพฯ 13 ก.พ.-ส่อวุ่น “หมอระวี” เผยพรรคเล็กอาจโหวตสวน หากรัฐมนตรีแจงไม่เคลียร์ ชี้ ใช้เอกสิทธิ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องปกป้องคนทุจริต
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ เปิดเผยถึงการประชุมของกลุ่มพรรคเล็กที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลว่า ได้มีการพูดคุยกันถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้ง 10 คน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16-20 ก.พ.นี้ โดยทุกพรรคมีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายคนออกมาระบุว่ามีหลักฐานเด็ดที่จะนำมาอภิปราย จนทำให้รัฐมนตรีหลายท่านจะไม่ได้รับการไว้วางใจในการอภิปรายครั้งนี้ ซึ่งพรรคเล็กยังไม่ทราบว่าจะเป็นข้อมูลที่เด็ดจริงหรือไม่ เราก็จะขอฟังการอภิปรายของฝ่ายค้านก่อน และถ้าสุดท้ายฝ่ายค้านข้อมูลที่เด็ดจริง และหากรัฐมนตรีท่านใดไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้อย่างกระจ่างชัดเจนและโปร่งใส เราก็ไม่สามารถลงมติสนับสนุนรัฐมนตรีท่านนั้นให้อยู่ในตำแหน่งและทำหน้าที่ต่อไปได้
เมื่อถามว่าการลงมติโหวตสวนในฐานะพรรคร่วมจะเป็นปัญหาหรือไม่ นายระวี กล่าวว่า ส.ส.ทุกคนมีเอกสิทธิในการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 124 ที่บัญญัติว่าในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกผู้ใดจะแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ฉะนั้นไม่มีกฎหมายข้อใดที่ระบุว่าต้องทำตามมติของใคร และกลุ่มพรรคเล็กไม่ได้เป็นองครักษ์ปกป้องรัฐมนตรี แต่เราเป็นองครักษ์ปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติ
“การอภิปรายในครั้งนี้ฝ่ายค้านและประชาชนจำนวนมากเห็นว่า คะแนนเสียงลงในการลงมติของสภาฯ คงไม่สามารถสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีได้ ไม่ว่าจะฝ่ายค้านจะมีหลักฐานเด็ดอย่างไร แต่ตนและกลุ่มพรรคเล็กจะพิสูจน์ให้เห็น เพราะ ส.ส.ทุกคนมีหน้าที่เข้ามาทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เพื่อรัฐมนตรีที่ทุจริต ดังนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ใครมาบังคับให้ไว้วางใจใครหากรัฐมนตรีคนนั้นไม่มีความน่าไว้วางใจ” นพ.ระวี กล่าว
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการอภิปรายของฝ่ายค้านในครั้งนี้ ขอให้ตรงประเด็น กระชับ อย่าเยิ่นเย้อ น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง และที่สำคัญที่สุด ขอเตือนฝ่ายค้านทุกคนอย่าอภิปรายในลักษณะจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นกลุ่มพรรคเล็กจะต้องประท้วงจนไม่สามารถอภิปรายต่อไปได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการนัดติวเข้มรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลที่จัดในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ กลุ่มพรรคเล็กทั้งหมดจะไม่เข้าร่วมประชุมด้วย อย่างไรก็ตาม จำนวนเสียงของกลุ่มพรรคเล็กในขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 20 เสียงที่มาจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ พลังพลังท้องถิ่นไทย พรรครักษ์ผืนป่า พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาธรรมไทย .-สำนักข่าวไทย