กระทรวงมหาดไทย 14 ม.ค.-รมว.มท. ระบุท้องถิ่นใช้งบซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนได้ แต่ต้องสอดคล้องกับแผนของรัฐบาล ยืนยัน ไม่เลื่อนเลือกตั้งเทศบาล มั่นใจไม่ใช่สาเหตุการแพร่เชื้อ พร้อมแจงซักฟอก
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ว่า อปท.สามารถจัดซื้อวัคซีนให้ประชาชนได้ แต่ต้องผ่านการรับรอง ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และต้องบูรณาการกับรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้จัดซื้อให้ประชาชนส่วนหนึ่งด้วย
“ต้องทราบแผนของรัฐบาลก่อนว่าจะให้กลุ่มเสี่ยงใดบ้าง ซึ่งจะกระจายไปในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด เช่น แพทย์ อสม. หากครอบคลุมได้ทั้งหมด ก็อาจจะไม่ต้องรบกวนท้องถิ่น แต่ถ้ายังมาช้าหรือยังมาไม่ทั่วถึง จะต้องมาหารือกันว่าท้องถิ่นจะแบ่งเบาก็สามารถทำได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เมื่ออปท.มีอำนาจหน้าที่ทำได้ ในส่วนงบประมาณ ที่ต้องนำไปจัดซื้อ ต้องพิจารณาในสภาท้องถิ่น ว่าจะใช้งบประมาณที่มีอย่างไร จะดูแลอย่างไร หากงบประมาณมีน้อย อาจจะต้องดูแลกลุ่มผู้อ่อนด้อยก่อน หากกลุ่มใดรัฐบาลดูแลได้ ท้องถิ่นก็ไม่ต้องดูแล ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ใช่ว่าใครจะทำก็สามารถทำได้
ส่วนที่เกรงว่าอาจมีบางพื้นที่ที่จะเลือกตั้งระดับเทศบาล นำเรื่องการจัดซื้อวัคซีนไปเป็นนโยบายหาเสียงจะทำได้หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจะนำเรื่องนี้ไปหาเสียงได้หรือไม่นั้น เป็นอำนาจการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้พิจารณา แต่หากเป็นการทำหน้าที่ของตนเองไม่ได้มีผลต่อการเลือกตั้ง สามารถทำได้ แต่อยากให้มองในแง่ดีว่าอปท.มีหน้าที่ดูแลประชาชนและบริการสาธารณะ เมื่อทำตามอำนาจหน้าที่ย่อมถือว่ามีเจตนาดี ต้องดูที่เจตนา
เมื่อถามว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงหลายพื้นที่ จะพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมี.ค. นี้ หรือไม่ พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวว่า ขั้นตอนการเลือกตั้ง กกต.มีขั้นตอนหลักการต่าง ๆ พอสมควร ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งไม่น่าจะมีผลเกิดการแพร่ระบาด
“ส่วนมาตรการการหาเสียงกกต. ที่ประชุมครม.สรุปว่าการเลือกตั้งไม่น่าจะได้รับผลกระทบ จึงสามารถจัดให้เลือกตั้งได้ โดยจะให้เลือกตั้งในระดับเทศบาลก่อน ซึ่งหากมีเหตุการณ์ผันแปรจากโควิด กกต. มีอำนาจสั่งเลื่อนได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติในวันที่ 15 มกราคมนี้ ว่า เป็นมาตรการนำแรงงานกลุ่มที่ผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบ เพื่อตรวจคัดกรองโรคและยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด ส่วนปัญหาเรื่องการทะลักของกลุ่มแรงงานเข้ามาอีกระลอกเป็นอีกเรื่องที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นตามแนวชายแดน ทั้งแรงงานหรือกลุ่มเล่นการพนัน ที่ต้องผ่านกระบวนการสาธารณสุขสอบสวนโรค
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่อาจมีชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เป็นกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยที่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจ และพร้อมชี้แจง ทั้งนี้ ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจและนโยบายรัฐบาลไม่ให้ผิดกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย