รัฐสภา 14 ม.ค. – ประชุม กมธ.ประชามตินัดแรก “สุรชัย” ยืนยันถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จบ ม.ค.นี้
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา กล่าวถึง ความคืบหน้าการพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า กรรมาธิการฯ ยังคงเป้าหมายเดิม ที่จะพิจารณาปรับแก้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ แต่ยังมีผู้แปรญัตติเสนอปรับแก้มามากพอสมควร ซึ่งหากจำเป็นต้องเลื่อน หรือขอขยายเวลา ก็จะดำเนินการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และจะติดตามการประชุมของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม รัฐสภา เพื่อพิจารณาไทม์ไลน์ให้คู่ขนานใกล้เคียงกันมากที่สุด เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 จะต้องมีการดำเนินการออกเสียงประชามติด้วย
“ส่วนรายละเอียดที่ ส.ส. และ ส.ว. มีการเสนอให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายประชามตินั้น นายสุรชัย ระบุว่า ส่วนใหญ่ขอให้มีการออกเสียงประชามติล่วงหน้า และการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ถึงข้อดีและปัญหา เพื่อให้กรรมาธิการฯ สามารถพิจารณาได้อย่างรัดกุมมากขึ้น ส่วนการพิจารณารูปแบบการออกเสียงประชามติแบบใช้บัตร ที่กรรมาธิการฯ เห็นว่า ควรมีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาทดแทน ได้สอบถามความพร้อมของ กกต. แล้วพบว่า ยังมีข้อจำกัดของระบบ จึงมีความเป็นไปได้ที่กรรมาธิการฯ จะปรับแก้ไข เพื่ออรองรับสภาพการณ์ในอนาคตไว้ด้วย” นายสุรชัย กล่าว
นายสุรชัย ยังคาดว่า ประเด็นต่างๆ ที่มีการแปรญัตติ และยังไม่ได้ข้อสรุป น่าจะมีการลงมติในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ แต่ในระหว่างการพิจารณาประเด็นใดที่สามารถลงมติได้ ก็จะดำเนินการไป และมั่นใจว่า จะสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ในที่ประชุมใหญ่รัฐสภาได้ ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
นายสุรชัย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวันนี้ (14 ม.ค.) เป็นการประชุมนัดแรก หลังหยุดเทศกาลปีใหม่ และต้องงดการประชุมไปเมื่อสัปดาห์ก่อน จากปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 โดยมีมาตรการการป้องกันอย่างเข้มงวด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ และจัดเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดก่อนเข้าร่วมประชุม การเปลี่ยนภาชนะชุดอาหารว่าง เป็นชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อลดการแพร่เชื้อ รวมถึงยังอนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่เป็นกรรมาธิการเท่านั้นที่เข้าประชุมได้ โดยงดให้ที่ปรึกษาจากบุคคลภายนอกเข้าร่วม เพื่อลดความแออัดภายในห้องประชุม.-สำนักข่าวไทย