กรุงเทพฯ 26 พ.ย.- ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องอดีตพนักงาน สกสค. ขอเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างพนักงาน 961 คน ชี้คำสั่งเลิกจ้าง เป็นเรื่องสภาพการจ้าง อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงาน
วันนี้ (26 พ.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณากรณี นางอาจินต์ ไตรสุวรรณ และพวกรวม 136 คน ซึ่งเป็นอดีตพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ยื่นฟ้อง สกสค. ผอ.สกสค. คณะกรรมการ สกสค.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างพนักงาน สกสค.จำนวน 961 คน ที่มีผลเมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา
ศาลให้เหตุผลว่า คณะกรรมการ สกสค.ออกข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค.ว่าด้วยการบริหารงานองค์การค้าของ สกสค.2549 และข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค.ว่าด้วยการบริหารงานองค์การค้าของ สกสค.ฉบับที่ 2 พ.ศ.2550 ใช้กับ สกสค.โดยเฉพาะ สกสค.จึงมีการจัดระบบบริหารจัดการรูปแบบพิเศษ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับ สกสค. นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน เงินเดือนหรือค่าจ้างของนางอาจินต์ และพวก ที่เป็นผู้ฟ้องคดีแต่ละราย ได้มาจากเงินรายได้ของ สกสค. ไม่ใช่จากงบประมาณแผ่นดิน นางอาจินต์ และพวก จึงไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ สกสค.โดยตรง การออกคำสั่งเลิกจ้างนางอาจินต์ และพวกแต่ละรายนี้ ซึ่งได้โต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าว โดยอ้างว่า สกสค ผอ.สกสค. กระทำการโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 คำสั่งเลิกจ้างจึงเป็นเรื่องสภาพการจ้างตามมาตรา 5 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 เหตุแห่งการฟ้องคดีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1)พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน 2522 จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง.-สำนักข่าวไทย