รัฐสภา 18 พ.ย. – “หมอชลน่าน” ยัน พท.ยินดีรับทั้ง 7 ร่าง เชื่อร่าง ไอลอว์ไม่ขัด รธน. ขู่ หากคว่ำ บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ ขณะที่ “จอน” ย้ำ ร่างแก้ไข รธน.ฉบับที่ 7 ไม่ใช่ของไอลอว์ แต่เป็นของประชาชน แนะสภาฯ ทำความรู้จักกับคนรุ่นใหม่ ไม่เช่นนั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายยืนยันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง ยังมีหลักการสอดคล้องกับร่างแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ การที่ร่างฉบับไอลอว์ถูกมองว่าล้มสถาบัน เพราไม่ห้ามเรื่องการแก้หมวด 1และ 2 เป็นการมองแบบมายาคติ เพราะขณะนี้เป็นแค่วาระรับหลักการ แต่จะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้น อยู่กับ ส.ส.ร.ที่จะไปคิดกัน
“พรรคเพื่อไทยยินดีรับทั้ง 7 ฉบับ แบบไม่มีเงื่อนไข และขอให้เอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลัก อย่าไปยึดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาให้สภาฯ เป็นที่แก้ปัญหา อย่าให้สภาฯ เป็นตัวเพิ่มปัญหา ถ้าไม่แก้ไข บ้านเมืองอาจจะลุกเป็นไฟ ที่สำคัญเราอาจจะไม่มีรัฐสภาอยู่ จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันร่วมแก้ไขปัญหา” นพ.ชลน่าน กล่าว
ขณะที่ นายจอน อึ้งภากรณ์ ตัวแทนจากไอลอว์ ย้ำว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 7 ไม่ใช่ร่างแก้ไขของไอลอว์ แต่เป็นร่างแก้ไขฉบับของประชาชนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ไม่คาดคิดว่าประเด็นการอภิปรายส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาไม่ได้พูดถึงเนื้อหา และเจตนารมณ์ของร่างแก้ไขเลย แต่กลับมีความความพยายามบิดเบือนประเด็น ให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม ทั้งที่ร่างแก้ไขฉบับนี้ มีประชาชนเห็นด้วย และร่วมลงชื่อมากว่า 1 แสนรายชื่อ ยืนยันว่า ไอลอว์เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์สิทธพลเมือง และสิทธิทางการเมืองของประชาชน ตามอนุสัญญา และการแสดงความเห็นทางการเมืองก็เป็นสิทธิที่สามมรถทำได้ ส่วนใครที่ต้องการทราบรายรับ รายจ่าย แหล่งเงินทุนของไอลอว์ สามารถติดต่อ สอบถามกับตนได้ทันที
“ไทยกำลังเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ต่างจากอดีต ซึ่งเป็นผลมาจากประชาชนถูกละเมิดสิทธิ และ หากสภาฯ ไม่ทำความรู้จักกับคนรุ่นใหม่ ก็จะไม่สามารถแก้วิกฤตประเทศได้ ดังนั้น จึงขอเสนอให้รัฐสภาเปิดเวทีเชิญคนรุ่นใหม่ทุกกลุ่มเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อหาทางออกร่วมกัน พร้อมทั้ง หวังว่า สภาฯจะช่วยแก้วิกฤตให้กับประเทศ สร้างความเข้าใจระหว่างประชาชน หากทำให้ผิดหวัง ประเทศจะยิ่งแย่ และเกิดความตึงเครียดในสังคม” นายจอน กล่าว
จากนั้น เวลา 13.00 น. ได้เริ่มลงมติแบบขานชื่อรายคน โดยไล่เรียงจากสมาชิกตามลำดับอักษร แต่ละคนลงมติครั้งละ 7 ญัตติ คาดว่าจะใช้เวลาในการลงมติ 4 ชั่วโมง .- สำนักข่าวไทย