รัฐสภา 17 พ.ย.- ที่ประชุมรัฐสภาเริ่มแล้ว นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เสนอว่าเวลาลงมติขอให้ ส.ว.ขานชื่อลงมติก่อน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว.จึงจะผ่านร่างไปได้ แต่หากไม่ผ่านจะได้ไม่เสียเวลาการลงมติของทั้งรัฐสภา
การประชุมรัฐสภาวันนี้ วาระสำคัญคือการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะเริ่มต้นพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ จากนั้นจึงจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ ก่อนจะลงมติในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ญัตติ ซึ่งจะใช้วิธีการลงมติแบบขานชื่อเรียงตามตัวอักษร ทั้งนี้ หากญัตติจะผ่านความเห็นชอบวาระที่หนึ่ง จะต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือไม่น้อยกว่า 367 เสียง และในจำนวนนี้ ต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 คือ 82 เสียง โดยที่ขณะนี้ ยังไม่ได้กำหนดเวลาอภิปรายและลงมติแต่อย่างใด
โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดเผยว่าไม่ลำบากใจในการทำหน้าที่วันนี้ ยืนยันว่าผู้ชุมนุมมีสิทธิเรียกร้อง แต่ต้องไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่คุกคามการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ส่วนเรื่องการรักษาความปลอดภัยในสภา เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่ต้องดูแลความปลอดภัยความเรียบร้อย ส่วนพื้นที่รอบนอกเป็นหน้าที่ของตำรวจ
ส่วนที่มีการประเมินว่า หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ถูกตีตกไป จะเป็นการจุดชนวนทางการเมืองให้ร้อนแรงกว่าเดิมหรือไม่ นายชวน ระบุว่าไม่ทราบ เป็นหน้าที่ของรัฐสภา แต่ส่วนตัวเชื่อว่าการประชุมของรัฐสภาจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ส่วนเวลาในการอภิปรายเบื้องต้นยังไม่แน่นอน ส่วนกรณีที่กลุ่มไทยภักดีจะไปยื่นหนังสือต่ออัยการ หากร่างของไอลอว์ผ่านมติของสภา นายชวน กล่าวว่า ขอให้เป็นเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภายในสภา ไม่ขอพูดเรื่องนอกสภา
ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รายงานของกรรมาธิการฯ มีประเด็นหลัก 2 ประเด็น คือร่างที่เสนอเข้ามาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่เกิดจากการประชุมรัฐสภาครั้งที่ผ่านมา และกรรมาธิการฯ ต้องชี้แจง คาดว่าใช้เวลาไม่มากนัก แต่ที่น่าเป็นห่วง คือร่างของไอลอว์ ซึ่งผู้เสนอกฎหมายต้องตอบคำถาม 5 ประการ คือ 1. ร่างของไอลอว์ไม่มีบทบัญญัติห้ามแก้ไขหมวด 1 และ 2 ซึ่งต้องชี้แจงว่า มีเจตนาอย่างไร 2.การเสนอร่างของไอลอว์ที่เกี่ยวกับ ส.ส.ร. และแยกประเด็นไปถึง 10 ประเด็น จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกันหรือไม่ 3.เรื่องการดำเนินการยกเลิกการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ มองว่า ยังไม่ได้เสนอรูปแบบที่ดีกว่า แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่นำไปสู่การยกเลิกองค์กรอิสระ 4.มีข้อห่วงใยในข้อบังคับข้อ 124 มีบทบัญญัติชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมวาระที่ 2 ว่า หากรับหลักการมาแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขให้ขัดกับขั้นรับหลักการได้ ซึ่งผู้เสนอร่างต้องตอบให้ได้ถึงหลักการนี้ 5.ร่างของไอลอว์ มีบางส่วนเข้าเงื่อนไขมาตรา 256 วงเล็บ 8 ที่อาจจะมีความซ้ำซ้อนกันเรื่องการทำประชามติ.-สำนักข่าวไทย