กทม. 15 พ.ย.-จับตาการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นวาระสำคัญเพื่อพิจารณาว่าจะรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใดบ้าง โดยมีทั้งหมด 7 ฉบับ ทั้งนี้ มติพรรคประชาธิปัตย์รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า หลักการของพรรคตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาลชัดเจนมาตั้งแต่ต้นในเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาล โดยญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ มี 2 ฉบับ ที่มีหลักการและเหตุผลในทำนองเดียวกัน คือฉบับที่เป็นของฝั่ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และฉบับเป็นของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น โดยย้ำหลักการไม่แก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ สองร่างนี้พรรคประชาธิปัตย์ จะลงมติรับหลักการในวาระ 1
ส่วนร่างของภาคประชาชนมี 1 ร่าง หรือที่เรียกว่าร่างไอลอว์ มีทั้งหมด 11 ประเด็น มีรายละเอียดในการแก้ไขรายมาตราอยู่หลายมาตรา และการตั้ง ส.ส.ร. ก็มีความแตกต่างกับร่างของฝ่ายค้านและของรัฐบาล ซึ่งพรรคจะประชุมพรุ่งนี้เวลา 13.00 น เพื่อหารือในรายละเอียดต่างๆ
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำพรรคจะลงมติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนทั้งร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและของฝ่ายค้าน ส่วนร่างของไอลอว์ ขอให้เป็นหน้าที่ของวิปในการหารือกัน ส่วนที่ ส.ส.และ ส.ว.บางส่วน จะยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น มองว่าเรื่องนี้ยังต้องผ่านอีกหลายด่าน ทั้งประธานรัฐสภา ที่จะต้องพิจารณาว่าจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมหรือไม่ ซึ่งหากบรรจุวาระ ก็ยังต้องผ่านมติจากที่ประชุมรัฐสภาก่อน และเมื่อเรื่องไปถึงศาล ยังต้องรอการพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญอีก ทั้งนี้การจะตรวจสอบ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ยังสามารถทำได้ภายหลังการพิจารณาวาระ 3 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะรัฐธรรมนูญ เปิดช่องทางไว้แล้ว แต่ก็ถือเป็นสิทธิ์ของสมาชิก หากจะยื่นเรื่องก่อน ส่วนความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เห็นว่าหากรอหลังวาระ 3 แล้วค่อยยื่นตีความ จะเกิดความล่าช้า นายจุรินทร์ ระบุเป็นความเห็นของแต่ละบุคคล เพียงแต่ตนเองเห็นว่ายังมีช่องทางตามรัฐธรรมนูญ.-สำนักข่าวไทย