ทำเนียบฯ 12 พ.ย.-อาเซียน-จีน เสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และความยั่งยืน พร้อมร่วมกันรับมือเพื่อฟื้นฟูภูมิภาคให้กลับมาเข้มแข็ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.00 น. วันนี้ (12 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 23 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วม
นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในฐานะประธานการประชุม กล่าวถึงวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนในมิติต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ด้านนายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า จีนและอาเซียนร่วมมือกันในหลายมิติ จีนมีความประสงค์ที่จะพัฒนาอย่างสันติเพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และพัฒนาแนวทางความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสามัคคี และก้าวข้ามวิกฤติที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน
โดยนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำบทบาทและความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนที่มีมาอย่างแนบแน่นตลอดระยะเวลา 30 ปี เปรียบเสมือนสุภาษิตที่ว่า “มิตรในยามยากคือมิตรแท้” และวิกฤติโควิด-19 ได้พิสูจน์ความเป็นมิตรแท้อีกครั้ง โดยร่วมกันรับมือเพื่อฟื้นฟูภูมิภาคให้กลับมาเข้มแข็ง
นายกรัฐมนตรี เสนอ 3 แนวทาง คือ อนาคตทางสาธารณสุข ที่ต้องเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ขอบคุณที่จีนให้ความร่วมมือและสนับสนุนข้อริเริ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะการสมทบกองทุนอาเซียนเพื่อการรับมือกับโควิด-19 จำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการประกาศให้วัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ โดยไทยพร้อมที่จะร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมทำวิจัย พัฒนา และผลิตยา เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประเทศในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะที่ อนาคตทางเศรษฐกิจ ต้องร่วมมือกันเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ยึดมั่นระบบการค้าพหุภาคี สานต่อบูรณาการทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และ RCEP และอนาคตที่ยั่งยืนที่ต้องร่วมมือกันเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ และประกาศให้ปี 2564 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความพร้อมที่จะต่อสู้กับความยากจน ความหิวโหย และภัยพิบัติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความร่วมมือเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค โดยขอให้แสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และหันมาหารือเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน.-สำนักข่าวไทย