ทำเนียบฯ 10 พ.ย.- “วิษณุ” ยันเสนอรัฐสภาร่วมพิจารณาร่างกฎหมายประชามติ ไม่ใช่เตะถ่วง แต่เร่งผ่านกฎมายกว่าขั้นตอนปกติถึง 3 เดือน ปิดประตูคำถามพ่วงแก้ไข รธน. พร้อมเลือกตั้ง อบจ. เหตุไม่น่าทันเวลา
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อประกบกับร่างของรัฐบาล ว่า ฝ่ายค้านมีสิทธิยื่น แต่หากร่าง พ.ร.บ.นั้นเกี่ยวข้องกับการเงิน หรือการใช้เงินก็ต้องส่งขึ้นมาให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรอง เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านติงว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับของรัฐบาลนั้นอาจมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน และไม่มีเรื่องของการรณรงค์เกี่ยวกับการทำประชามติที่ชัดเจน นายวิษณุ กล่าวว่า ความจริงไม่มีปัญหาอะไร เพราะเมื่อเข้าสู่สภาก็สามารถแก้หรือแปรญัตติได้ จะทำเป็นร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านประกบมาได้ก็ไม่ว่ากัน
ต่อข้อถามว่า ฝ่ายค้านมองว่าการให้ ส.ว.เข้ามาร่วมพิจารณาด้วยตั้งแต่ต้นเป็นการยื้อเวลา และหวังให้ร่างตกไปตั้งแต่กระบวนการเริ่มแรก นายวิษณุ กล่าวว่า นี่คือการเร่งเวลา เพราะหากไม่เอา ส.ว.เข้ามาร่วมพิจารณาด้วยตั้งแต่ต้น ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาเสร็จแล้วก็ไปที่วุฒิสภา หากมีการแก้ไขก็ต้องส่งกลับมาที่สภาใหม่ ดังนั้นการที่ให้เข้าพิจารณาร่วมทั้งสองสภาถือว่าเป็นการพิจารณาม้วนเดียวจบ นี่คือความเร็ว ซึ่งเร็วขึ้นประมาณ 3 เดือน
นายวิษณุ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประชามตินี้ เป็นร่างที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ ดังนั้นจะตกไม่ได้หรอก เพราะถ้าตกรัฐบาลก็ต้องลาออกหรือยุบสภา ส่วนที่บอกว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น ร่างนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร่าง หากไม่ชอบใจมาตราใดก็ขอแปรญัตติได้อยู่แล้ว ในชั้นกรรมาธิการ ดังนั้นเชื่อว่าที่ฝ่ายค้านเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติขึ้นมาประกบนั้น อาจมีเหตุผลอื่นมากกว่า
เมื่อถามถึงคำถามพ่วงที่จะแนบไปพร้อมกับการทำประชามติ นายวิษณุ กล่าวว่า คำถามแนบจะต้องเกิดจากคณะกรรมการสมานฉันท์ เมื่อยังไม่เกิด ก็ยังเดินไปถึงตรงนั้นไม่ได้ แล้วก็คงจะไม่ทันแล้ว
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และส.ว.บางส่วนเข้าชื่อเตรียมเสนอญัตติให้รัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนได้อ่านญัตติแล้วพบว่าเรื่องนี้เป็นการยื่นต่อรัฐสภาเพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องส่ง แต่ถ้าเห็นชอบก็ส่งตามข้อบังคับข้อที่ 31 ผู้ยื่นอ้างในญัตติว่าจะไม่ทำให้ดีเลย์หรือล่าช้า เพราะทุกอย่างเดินคู่ขนานกันไป ซึ่งการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17-18 พ.ย.จะต้องเริ่มต้นด้วยการโหวต หากโหวตรับหลักการไม่ว่าจะกี่ร่างก็ต้องแยกญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐสภาก็ตั้งกรรมาธิการดำเนินการในวาระ 2 วาระ 3 ต่อ และคงจะไปบรรจบเจอกันตรงไหนสักที่เพื่อไม่ให้เสียเวลา
เมื่อถามว่า หากมีการโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินภายหลังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายจะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า หากไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เดินต่อไปไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าไม่มีใครทำอะไร แล้ววันหนึ่งมีอีกคนไปยื่นตีความ จะลำบากยิ่งกว่านี้
“วันที่ 17-18 พ.ย.ลงมติเลย พอรับหลักการวาระที่ 1 ก็ต้องตั้งกรรมาธิการอยู่ดี ใช้เวลานานเท่าไหร่หรือจะเป็นเดือน ระหว่างนั้นก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญไปพลาง ภายใน 1 เดือนศาลก็คงพิจารณาเสร็จ และถ้าศาลบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร ในชั้นกรรมาธิการก็เดินต่อไปได้เพื่อเข้าวาระ 3 แต่ถ้าศาลบอกว่ามีปัญหาก็จะได้หยุดตรงนั้น ดีกว่าที่จะไปทำประชามติเสียเงิน 3 พันล้านบาท” นายวิษณุ กล่าว .-สำนักข่าวไทย