นิด้าโพล 4 ต.ค.- นิด้าโพลสำรวจความเห็นประชาชน เรื่องความเคลื่อนไหวพรรคเพื่อไทย พบเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 49.09 ไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยจะเข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เพราะ แนวคิดจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความเคลื่อนไหว พรรคเพื่อไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 – 30 กันยายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,316 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทย (เช่น การลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ฯ ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และการลาออกจากหัวหน้าพรรค ฯ ของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์) พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.16 ระบุว่า เป็นแค่การปรับเปลี่ยนทั่ว ๆ ไปของพรรค ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รองลงมา ร้อยละ 19.30 ระบุว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าอาจมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่เร็ว ๆ นี้ ร้อยละ 9.27 ระบุว่า เป็นกลลวงทางการเมืองของพรรค ฯ ในการเอาชนะรัฐบาล ร้อยละ 8.36 ระบุว่า คนในตระกูลชินวัตรจะเข้ามาควบคุมพรรค ฯ เอง ร้อยละ 7.14 ระบุว่า เป็นสัญญาณว่าพรรคเพื่อไทยกำลังจะแตก ร้อยละ 6.00 ระบุว่า พรรค ฯ กำลังมีข้อตกลงปรองดองกับรัฐบาล ร้อยละ 4.71 ระบุว่า พรรค ฯ เตรียมเข้าร่วมรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 3.65 ระบุว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าพรรค ฯ ไม่สนับสนุนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร้อยละ 0.23 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ มีการเตรียมตัวเพื่อลงสมัครการเมืองท้องถิ่น และเกิดความขัดแย้งภายในพรรค และร้อยละ 17.25 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนหากพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ร้อยละ 15.88 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อประเทศจะได้เดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะได้ช่วยกันบริหารประเทศให้ดีขึ้น เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์การทำงานทางการเมืองมานาน ร้อยละ 16.41 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เพื่อลด ความขัดแย้งทางการเมือง สร้างการปรองดอง ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆให้ดีขึ้นได้ ร้อยละ 16.87 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ มีแนวทางการทำงานทางการเมืองไม่เหมือนกัน มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน จึงทำให้ทำงานร่วมกันได้ค่อนข้างยาก ร้อยละ 49.09 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ แนวคิด จุดยืนทางการเมือง การทำงานมีความแตกต่างกันซึ่งถ้าเข้าร่วมอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้ และร้อยละ 1.75 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนหากพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่นายกรัฐมนตรีไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ร้อยละ 24.09 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ จะได้มีการแก้ไขปัญหา พัฒนา เปลี่ยนแปลง การเมืองไทยร่วมกัน ซึ่งจะสามารถทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ร้อยละ 22.11 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ จะได้มี การบริหารจัดการปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบ้าง ร้อยละ 14.51 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้ยาก ขณะที่บางส่วนระบุว่า ยังต้องการให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ร้อยละ 37.54 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ แนวทางการทำงาน อุดมการณ์แตกต่างกัน ต้องการให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคอื่นร่วม เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองของพรรคอย่างชัดเจน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และร้อยละ 1.75 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ .-สำนักข่าวไทย