ป.ป.ช. 31 ส.ค.-“ศรีสุวรรณ” ร้อง ป.ป.ช.สอบคลิปเสียงเรียกสินบนกล้อง CCTV
ชี้ ส.ส.ไม่มีหน้าที่แฝงตัวล่อซื้อ
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบคลิปเสียงอ้างว่าเป็น ส.ส.คนดังเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งหากเป็นเรื่องจริง ถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าข่ายพฤติกรรมชั่ว เป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ควรจะยอมรับ เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบรัฐสภาไทย จึงต้องมาร้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนสอบสวนเพื่อนำผู้กระทำความผิด หรือผู้ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้มาลงโทษ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ซึ่งเข้าข่ายความผิดกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะความผิดทางอาญา ตามมาตรา 339 ฐานกรรโชกทรัพย์ มาตรา 129 ฐานเป็น ส.ส.เรียกรับผลประโยชน์อื่นใด รวมทั้งมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ระบุชัดเจน ว่าห้ามคนที่เป็น ส.ส. หรือมีตำแหน่งทางการเมืองไปเรียกรับผลประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่น หากพบว่ามีความผิดมีโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากตำแหน่ง เรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้นในระบบการเมืองไทยที่อ้างว่ามีการปฏิรูปแล้ว
“ที่สำคัญ ป.ป.ช.จะต้องเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่อ้างว่ามีวัตถุพยานเป็นคลิปและภาพมาให้ข้อมูล เพื่อให้สำนวนมีความชัดเจนแน่นหนามากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้น ผมได้นำคลิปที่สื่อมวลชนเผยแพร่ส่วนหนึ่งมามอบในวันนี้” นายศรีสุวรรณ กล่าวและว่า ควรเรียกประธานชมรมธรรมาภิบาลที่เคยร้องเรียนเรื่องกล้อง CCTV ไว้ มาให้ข้อมูลด้วย
เมื่อถามว่า บุคคลในคลิปอ้างว่าเป็นการแฝงตัวไปหาข้อมูล นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ต้องไปเลิกดูหลัง ส.ส.คนนั้นว่าเป็นแผลหรือเปล่า เอาสีข้างเข้าถูเช่นนี้ คงจะเหวอะหวะ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ชัดเจนจากที่พูดกันในคลิป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เหมือนเป็นการยอมรับว่าตัวเองได้กระทำ หรือมีพฤติกรรมเช่นนั้นจริง
“จะไปกล่าวอ้างอย่างไรก็ได้ แต่สิ่งที่คุณกล่าวอ้างต้องมารายงาน ต้องมาชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่า ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนเป็นปรมจารย์ในการไต่สวนสอบสวนในการทำคดีอยู่แล้ว การกล่าวอ้างอย่างนั้น น้ำหนักแทบไม่มีเลย” นายศรีสุวรรณ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า การหาข้อมูลในลักษณะของการล่อซื้อ สามารถทำได้หรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ส.คนดังกล่าว ซึ่ง ส.ส.และ ส.ว.มีหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกฎหมาย ตรวจสอบคนที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้มีหน้าที่ไปล่อซื้อ หรือจับบุคคลใด ๆ หากพบว่ามีผู้กระทำผิด ก็ทำได้เพียงไปร้องเรียนกล่าวโทษให้องค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงดำเนินการ.-สำนักข่าวไทย