อาคารสุขประพฤติ 28 ส.ค.-“วัลลภ” ไม่ติดใจข้อเสนอปิดสวิตซ์ส.ว.ตัดอำนาจเลือกนายกฯ ระบุหน้าที่ถูกกำหนดจากที่มาในรธน. ชี้จะได้เป็นนายกฯ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ในสภาผู้แทนราษฎร
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวถึงข้อเสนอให้ปิดสวิตช์อำนาจส.ว. ว่า เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภามาทั้ง 3 แบบ คือมาจากการแต่งตั้ง มาจากการรัฐประหารและมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ละแบบมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน โดยที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ค่อนข้างมาก ส่วนมาจาก การแต่งตั้ง มีอำนาจเพียงกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งในหลักการเห็นว่าที่มาแบบใด ควรได้อำนาจตามแบบนั้น จึงไม่ติดใจ หากจะลดทอนบทบาทอำนาจของส.ว. แต่ในขณะนี้สว.ยังต้องทำหน้าที่ ตามอำนาจและบทบาทตามรัฐธรรมนูญ จึงอยู่ที่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติ ให้ทำหน้าที่ได้เพียงใด
“ผมเฉย ๆ กับสิ่งเหล่านี้ จะลดอำนาจก็ได้ ไม่ลดก็ได้ ถึงอย่างไรก็ทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญให้เราทำแค่ไหน เราก็ทำเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะติดข้องหมองใจทั้งสิ้น ถ้ายกร่างใหม่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) จะมาจากองค์กรต่างๆ200 คน ซึ่งไม่เกี่ยวกับส.ส.และส.ว ดังนั้น ถ้าจะยกร่างในรัฐธรรมนูญให้เราทำแค่ไหน ผมก็เคารพรัฐธรรมนูญ เช่น ถ้าจะให้แค่กลั่นกรองกฎหมาย เราก็โอเค หรือจะเพิ่มให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็โอเค ถ้าให้เลือกนายกฯ ก็โอเค ซึ่งในทางกลับกันถ้าจะไม่ให้เลือกนายกฯ ก็โอเค ไม่ให้กลั่นกรองบุคคลก็โอเค เราทำตามรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเราเห็นชอบตั้งส.ส.ร.แล้ว ก็ต้องเคารพส.ส.ร.ที่เข้ามาดำเนินการ” นายวัลลภ กล่าว
ส่วนยังมีความจำเป็นที่ส.ว.ต้องลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายวัลลภ กล่าวว่า โดยหลักการแล้วคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี หากไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนได้เกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เสียงเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง โดยที่วุฒิสภาไม่ลงมติให้ก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้อยู่แล้ว ในทางกลับกัน บุคคลใดก็ตามหากจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วได้เสียงในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็ไม่ควรเป็นอยู่แล้ว
“ผมเห็นว่าถ้าตัดอำนาจส.ว.ไม่ให้เลือกนายกรัฐมนตรีก็เป็นเรื่องดีและสบายใจด้วย ผมรับได้ถ้าจะตัดอำนาจในส่วนนี้ แต่ผมไม่สามารถพูดแทนเพื่อนส.ว.ทั้ง 250 คนได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าถ้ารับหลักการให้มีส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ทุกคนจะเคารพในสิ่งที่ส.ส.ร.ยกร่าง และตอนที่รัฐธรรมนูญ ปี 60 ออกมา ผมก็ไม่เห็นด้วยในหลายมาตรา จึงเห็นว่าควรแก้ไข แต่จะแก้อย่างไรก็ต้องแล้วแต่” นายวัลลภ กล่าว.-สำนักข่าวไทย