รัฐสภา 23 ก.ค.- “วิโรจน์” เตรียมฟื้นแคมเปญ “ล่าทหารขึ้นศาลพลเรือน” ของพรรคเพื่อไทย หลังศาลทหารตัดสิน “คดีน้องเมย” เรียกร้องนายกฯ ลงนามอนุสัญญา OPCAT เปิดทาง กสม.-สหประชาชาติ ตรวจสอบการซ้อมทรมานในกองทัพ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังศาลทหารชั้นฎีกา มีคำพิพากษาจำเลยในคดีที่นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิตหลังถูกรุ่นพี่ธำรงวินัย โดยมีโทษจำคุก 4 เดือน 16 วัน รอลงอาญา 2 ปี เนื่องจาก ศาลเห็นว่า โทษจำคุกรุ่นพี่ไม่เกิดประโยชน์ว่า กรรมาธิการฯ ทราบว่า ครอบครัวตัญกาญจน์ มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นคดีในส่วนอาญา ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะช่วยรวบรวมรายละเอียดทั้งหมด และสอบถามไปยังกระทรวงยุติธรรมว่า คดีนี้จะมีขั้นตอน และหลักเกณฑ์ในการรื้อฟื้นคดีอย่างไร พร้อมยอมรับว่า ขณะนี้ คำพิพากษาถึงชั้นฎีกาโดยศาลทหารสูงสุดแล้ว แต่เรื่องนี้จะต้องทำงานให้ละเอียด โดยเฉพาะการรื้อฟื้นคดี พร้อมกับทวงถามสวัสดิการ ที่ควรจะได้ชดเชยให้ได้มากกว่านี้
ส่วนหลักการสูงสุดในการแก้ไขปัญหาแบบให้จบสิ้นนั้น นายวิโรจน์ เห็นว่า จะต้องแก้ไขกฎหมาย ที่ต้องให้ทหารที่กระทำการทุจริตทุกคดี-ทุกกรณี ขึ้นศาลอาญาทุจริต เพราะการทำร้าย การทารุณกรรมในค่ายทหารหลายกรณี ไม่ใช่การธำรงวินัย แต่เป็นการไม่สยบยอมกับกระบวนการทุจริตในกองทัพ หรือถูกกลั่นแกล้งด้วยวิธีการต่าง ๆ จนถึงขั้นทารุณกรรมถึงบาดเจ็บหนัก และถึงขั้นชีวิต เข้าข่ายความผิดฐานทารุณกรรมและซ้อมทรมาน ดังนั้น จึงมั่นใจว่า หากยังมีศาลทหาร ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความยุติธรรม ก็ไม่มีทางที่จะทำให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดหมดไปได้
นายวิโรจน์ ยังยกคำที่ว่า “ผิดใจให้เปิดกฎ ผิดกฎให้เปิดใจ” ที่เมื่อทำความผิดชั่วช้าอย่างไร ถ้าสยบยอมภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ก็อยู่กันได้ วิ่งเต้นช่วยกันได้ หรือถ้าผิดใจให้เปิดกฎ ฝ่าฝืนไม่ยอมทำตามคำสั่งรุ่นพี่รุ่นน้อง ก็พร้อมที่จะเปิดกฎหมาย และระเบียบทุกตัวอักษรเพื่อเล่นงาน ดังนั้น วัฒนธรรมแบบนี้กองทัพจะเป็นที่ไว้วางใจของพี่น้องประชาชนไม่ได้
นายวิโรจน์ ยังฝากถึงนายกรัฐมนตรีว่า ถึงเวลาต้องลงสัตยาบันในพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน หรือ OPCAT ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ กสม.เข้ามาตรวจสอบกองทัพ เรื่องการซ้อมทรมานได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้กองทัพทราบล่วงหน้า มีคณะอนุกรรมการจากสหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบได้เช่นกัน พร้อมมั่นใจว่า จะไม่กระทบต่อความมั่นคง เพราะเป็นการเข้ามาตรวจสอบเฉพาะเรื่องการซ้อมทรมาน ไม่ใช่ตรวจสอบภารกิจด้านความมั่นคง
นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงโทษจำคุก 4 เดือน 16 วัน และให้รอลงอาญา และยังได้โอกาสรับราชการต่อเพื่อประโยชน์ว่า เป็นประโยชน์ของใคร จะนำคนที่ฆ่าพวกเดียวกันไปรับราชการทหาร หรือตำรวจหรือ? จึงฝากถึง 5 ผู้บัญชาการเหล่าทัพพิจารณาด้วย
นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ตกไปในวาระ 2 และ 3 ของสภาฯ ที่พรรคเพื่อไทย เคยทำแคมเปญล่าทหารขึ้นศาลพลเรือน แต่พรรคเพื่อไทย กลับปัดตกเอง ทั้งนางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ก็ปรากฏภาพอยู่ในโปสเตอร์แคมเปญนี้ ดังนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่เห็นความหมายแล้ว คณะกรรมาธิการฯ จึงจะรับจบในเรื่องนี้เอง โดยจะเปิดล่ารายชื่อภายในไม่กี่วันนี้ และจะยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง
นายชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียหาย ที่แม้คดีจะสิ้นสุดลง แต่ก็เกิดคำถามจากสังคมต่อมาตรการการตัดสินคดีของศาลทหาร รวมถึงการมีอยู่ของศาลทหาร ที่มีหน้าที่พิจารณาคดีบุคลากรของกองทัพ และมีผลลัพธ์ที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับความยุติธรรม พร้อมเห็นว่า กองทัพควรตระหนักในมาตรฐานประกาศ และระเบียบที่จะต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพราะทุกครั้งที่มีการสูญเสีย กองทัพมักจะอ้างว่า ตนเองมีระเบียบชัดเจน แต่สุดท้ายเหตุการณ์แบบนี้ก็ยังคงเกิดขึ้น เพราะกองทัพไม่เคยบังคับใช้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน และจบลงด้วยการสูญเสีย ซึ่งเมื่อเกิดเหตุกองทัพก็กลับไปพิจารณาในศาลทหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพเองผ่านวัฒนธรรมที่มีการตรวจสอบ และโยกย้ายกันเอง
นายชยพล ยังตั้งคำถามต่อกรณีนี้ว่า บุคลากรต้นเรื่องที่ทำให้เกิดการสูญเสียนี้ และการได้รับโทษแค่เพียงเท่านี้ หรือการให้เหตุผลการรับใช้ชาติต่อเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่านั้น เป็นเรื่องที่เหมาะสมจริงหรือไม่ ซึ่งสะท้อนว่า กองทัพไม่ได้ตระหนักรู้ และยังยอมปล่อยให้บุคคลผู้นี้ รับใช้ราชการต่อได้ จึงขอฝากไปยังผู้บังคับบัญชาภายในกองทัพให้ต้องตระหนักรู้ได้แล้ว และถึงเวลาที่คุณจะต้องปรับปรุงระบบภายใน
ด้าน นายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า ปัญหานี้ถูกตั้งคำถามต่อการกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วน และกระบวนการยุติธรรม ที่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งทั้งหมดเกิดจากพระธรรมนูญศาลทหาร ที่ไม่เปิดให้สิทธิ์ผู้เสียหายที่เป็นราษฎร สามารถฟ้องทหารได้ แต่ต้องไปฟ้องผ่านอัยการทหาร ซึ่งก็มีผู้คัดกรอง แม้กระทั่งจะเป็นโจทย์ร่วมก็ไม่ได้ และระบบนี้ ยังอยู่ภายใต้อำนาจฝ่ายบริหาร หรือรัฐมนตรีว่าการระทรวงกลาโหม รวมถึงตุลาการที่พิจารณาคดี และอัยการที่ทำหน้าที่ฟ้อง ก็ยังเป็นพรรคพวกเดียวกัน ตนจึงตั้งคำถามว่า ระบบการพิจารณาแบบนี้หรือที่สังคมต้องการ และอยากให้ศาลทหารเป็นอิสระจากอำนาจฝ่ายบริหาร และมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลให้ได้สิทธิเท่าเทียมเหมือนศาลพลเรือน
นายเอกราช ยังระบุว่า ขณะนี้ จะต้องช่วยกันผลักดันการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งขณะนี้ พรรคประชาชน ได้เสนอร่างกฎหมายบรรจุไว้ในระเบียบวาระแล้ว เพื่อต่อไปนี้หากมีการซ่อม หรือการธำรงวินัย จนเสียชีวิตในค่ายทหาร ในลักษณะเช่นนี้ จะเข้าข่ายการซ้อมทรมาน ซึ่งต้องไปขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงขอให้คณะรัฐมนตรี ได้รีบเสนอร่างกฎหมายเข้ามาด้วย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งศาลทหาร และศาลพลเรือน พร้อมเปิดเผยว่า พรรคประชาชน ยังได้มีการยื่นยกเลิกศาลทหารออกจากรัฐธรรมนูญด้วย จึงขอให้ทุกคนช่วยกันผลักดัน.312 -สำนักข่าวไทย