อุซเบกิสถาน 8 เม.ย.-“กัณวีร์” ชง IPU พิจารณาวาระฉุกเฉิน “ประเด็นมนุษยชนในเมียนมา” หวังให้ชาวเมียนมาได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเท่าเทียม-ทันท่วงที หวังรัฐสภาโลกยืนหยัดเคียงข้างเมียนมา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา เพื่อลงมติเลือกหัวข้อบรรจุเป็นระเบียบวาระฉุกเฉิน หรือเร่งด่วน ในห้วงการประชุมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 150 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ ที่กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 4 ถึง 11 เมษายน 2568 ซึ่งที่ประชุมได้มีการเสนอวาระฉุกเฉิน 4 เรื่อง ซึ่งโดย 1 ใน 4 เรื่องคือ ประเด็นสถานการณ์ในเมียนมา หรือ การทูตรัฐสภา เพื่อส่งเสริมสันติภาพในวิกฤตมนุษยธรรมในเมียนมา ที่เสนอโดยไทย และฟิลิปปินส์
โดย นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้อภิปรายนำเสนอประเด็นดังกล่าวให้เป็นวาระฉุกเฉินของที่ประชุมว่า ขณะนี้ เมียนมาไม่สามารถเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของ IPU ได้ โดยเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ไทยและฟิลิปินส์ จึงเป็นเพียง 2 ประเทศในอาเซียน ที่สามารถสะท้อนเสียงไปได้ และซึ่งเมื่อเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ที่เมียนมา คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 3,300 ราย และมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 1,100,000 คน ทั้งบ้านเรือน โรงเรียน หรือโรงพยาบาลได้รับเสียหาย ทำให้ชาวเมียนมาต้องอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งมีน้ำ อาหาร และการดูแลพื้นฐานอย่างจำกัด
นายกัณวีร์ ยังระบุว่า เป็นเวลาหลายปีที่เมียนมาร์ต้องเผชิญกับความเร่งด่วนด้านมนุษยธรรม ความไม่มั่นคง การอพยพ และความไม่ปลอดภัยเป็นเวลาหลายปีทำให้ผู้คนมากกว่า 15 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือ แม้จะมีการประกาศหยุดยิงหลังเกิดแผ่นดินไหว แต่การโจมตีทางอากาศและการโจมตีทางอากาศยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากที่สุด จึงเป็นเหตุผลที่ไม่อาจละสายตาได้ แม้ชาวเมียนมาร์ไม่ได้ร้องขอการปฏิบัติพิเศษ แต่ชาวเมียนมาร้องขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเท่าเทียมและทันท่วงที เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ในโลก ที่ต้องการการประสานงานที่ได้ผล เข้าถึงได้ รวมถึงการเยียวยา จึงเป็นเหตุผลที่ตนได้นำเสนอวาระฉุกเฉินนี้ จึงขอให้ที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ยืนหยัดเคียงข้างชาวเมียนมาด้วยความสามัคคี พร้อมเชื่อมั่นว่า การนำวิกฤตเมียนมาขึ้นมาพูดในการประชุมครั้งนี้ จะมีความหมายในไม่ช้านี้แน่นอน
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา มีมติไม่ถึงเกณฑ์ 2 ใน 3 ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวตกไป ส่วนอีก 3 ประเด็น ที่ถูกเสนอเป็นวาระเร่งด่วน ทั้งสงครามการค้า, การยุติการหยุดยิงของอิสราเอลในปาเลสไตน์ สถานการณ์ความขัดแย้งในคองโก และซูดาน รวมถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อน นั้น ผลการลงมติไม่ผ่านเกณฑ์ 2 ใน 3 เช่นกัน ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวทั้งหมดตกไป
ขณะที่ อิสราเอลได้เสนอเรื่อง การยุติ 2 มาตรฐาน เพื่อเรียกร้องให้ประชาคมโลกรับผู้ลี้ภัยจากกาซาแทนการแสวงประโยชน์ผู้ลี้ภัยโจมตีอิสราเอลนั้น ได้ถูกถอนออกไปก่อนการลงมติ เนื่องจาก ระหว่างที่มีการพิจารณานั้น ได้เกิดการประท้วง และการวอล์กเอ้าท์ของผู้แทนรัฐสภาส่วนหนึ่งในการประชุม
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายกัณวีร์ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว
ในห้วงการประชุม IPU ครั้งที่ 150 ดังกล่าวนี้ ซึ่งมีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาโดยเชิญ ผู้แทน UNHCR คอนเฟอร์เรนซ์ บอกเล่าถึงสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งทำให้มีผู้พลัดถิ่นกว่า 3,500,000 คนมีประชากรได้รับผลกระทบ 15 ล้านคน และหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ผู้ประสบภัยกว่า 1,100,000 คนได้รับผลกระทบ และระหว่างนั้น ยังมีเหตุระเบิดจากการสู้รบ ยิ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อน จึงมีการหารือว่า ในเวทีระหว่างประเทศนั้น จะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้
โดยนายกัณวีร์ ได้สอบถามในที่ประชุมฯ ถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หลังถูกตัดงบประมาณด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งได้รับคำตอบจากองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่าง UNHCR ว่า ยังคงให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ต่อไป พร้อมเสนอให้คณะกรรมาธิการด้านการส่งเสริมการเคารพต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรม หรือ IHL ส่งผู้แทนเดินทางไปติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อไปติดตามสถานการณ์ที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ปัญหา.-319.-สำนักข่าวไทย