รัฐสภา 17 มี.ค.-รัฐสภามีมติข้างมาก 415 เสียง ตีตกร่างกฎหมาย ป.ป.ช. โอนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของ “ทหาร” ไปศาลคดีทุจริต
การประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาแล้วเสร็จ ทั้งนี้ในการพิจารณาในวาระสอง พบว่า สมาชิกรัฐสภา ได้ถกเถียงถึงการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมากในมาตรา 4 ที่แก้ไขให้ในรายละเอียดของการให้คดีทุจริตและประพฤติมิชอบส่วนของกองทัพให้โอนอัยการสูงสุดไปดำเนินการ โดยได้ตัดส่วนของการดำเนินคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบออกไป นอกจากนั้นได้เพิ่มวรรคสองขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้การดำเนินคดีในส่วนของบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร เป็นเจ้าหน้าที่กองทัพ กำหนดให้ศาลทหารยังมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ไปพลางก่อน โดยให้อัยการสูงสุดเป็นอัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
โดย กมธ.เสียงข้างน้อยและสมาชิกรัฐสภา ทักท้วงว่าการแก้ไขเนื้อหาดังกล่าว เท่ากับการคงอำนาจให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีของบุคลากรในกองทัพที่มีประเด็นทุจริต และประพฤติมิชอบ ซึ่งถือว่าขัดกับหลักการของการอำนวยความยุติธรรมสากล อีกทั้งในการกำหนดให้ศาลทหารยังมีอำนาจในการพิจารณาคดีไปพลางก่อนที่จะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่ากับการประวิงเวลา
ขณะที่ นายณรงค์ ทับทิมไสย์ ตัวแทนสำนักงานศาลยุติธรรม ฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปราย ศาลยุติธรรมมีจุดยืนชัดเจนที่ให้พิจารณาคดีทุจริตประพฤติมิชอบทุกประเภทในศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อต้องการให้การพิจารณาคดีดังกล่าวบรรลุการค้นหาความจริงด้วยระบบไต่สวน แสวงหารวบรวมให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง พยานอย่างครบถ้วน รอบด้าน จะส่งผลให้การพิจารณาพิพากษาคดีมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เสมอภาค เป็นธรรม สอดคล้องกับหลักการสากลที่ยอมรับร่วมกันให้บุคคลทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย ศาล เดียวกันภายใต้ข้อหาอย่างเดียวกัน คือ หากพลเรือนทำผิดต้องขึ้นศาลพลเรือนที่เป็นกลางที่เป็นหลักความเสมอภาคของกฎหมายและอิสระของตุลาการ ที่นานาอารยประเทศยอมรับ
นายณรงค์ อภิปรายด้วยว่า เมื่อรัฐสภารับหลักการย่อมมีเจตนารมณ์ชัดเจนให้ กมธ.พิจารณาให้การดำเนินคดีทุจริตประพฤติมิชอบที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร อยู่ในอำนาจของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือศาลพลเรือน กรณีที่กมธ.เสียงข้างมาก ไม่ทำให้เกิดคความชัดเจนเพื่อให้ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบมีอำนาจพิจารณาคดีทุจริตผู้ถูกกล่าวหาในเขตอำนาจศาลทหาร ช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้ร่างกฎหมายไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้อยู่ในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล หากบัญญัติให้ชัดเจน เหมือนกับ พ.ร.บ.อุ้มหาย มาตรา 34 ที่ให้ศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบมีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดทั้งหลาย ย่อมทำให้กฎหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นชัดเจนและสร้างเจตจำนงค์ร่วมกันว่าให้กฎหมายเป็นไปทิศทางใด
“น่าเสียดายที่ร่างกฎหมายประชุมชั้นกมธ. 2 ครั้ง แต่ผมไม่ได้อยู่ด้วยเพราะติดราชการที่ต่างประเทศ จึงไม่ได้เสนอร่างแก้ไข ทั้งนี้ได้ขอสงวนความเห็นในเนื้อหา ทั้งนี้กมธ. เสียงข้างมาก บัญญัติไว้ถือว่าไม่มีความชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนของผู้บังคับใช้กฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาล และจำเลยใช้โต้แย้งเพื่อประวิงคดีได้ง่าย แต่หากบัญญัติให้ชัดเจนเช่นเดียวกัน พ.ร.บ. อุ้มหาย หรือแนวทางกมธ.เสีงข้างน้อย ทำให้กฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงมีผลบังคับใช้และไม่ถูกโต้แย้งได้ง่าแยละกฎหมายของประเทศก้าวหน้า” นายณรงค์ อภิปราย
ขณะที่นายธงทอง นิพัทธรุจิ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ไขเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ต้องคำนึงถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 199 และพระธรรมนูญศาลทหาร อย่างไรก็ดีในการพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นมีบทกำหนดให้ศาลทหารนำไปปฏิบัติ ดังนั้นวิธีการพิจารณาคดีทุจรติประพฤติมิชอบ ที่ออกตามพ.ร.ป.ป.ป.ช.ที่แก้ไข นั้นเป็นการดำเนินการก่อนชั้นศาล ที่รับรองเขตอำนาจศาลทหาร ดังนั้นมาตรา 4 ที่แก้ไข ให้โอนอำนาจศาลทหารที่ทหารกระทำความผิดตามคดีทุจริตประพฤติมิชอบไปยังศาลพลเรือน ภายหลังการยกเลิกมาตรา 3 ซึ่งยกเลิกมาตรา 96 ของ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561
“การแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมาก เป็นการกำหนดการก่อนชั้นศาลไม่ใช่ขั้นตอนในชั้นศาล ซึ่งขั้นตอนในชั้นศาลจะเป็นไปตามเขตอำนาจและวิธีพิจารณาคดีตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 199 กำหนดรวมถึงพระธรรมนูญศาลทหารกำหนด กรณีที่กมธ.เสียงข้างมาากให้ชะลอตัดอำนาจศาลทหารที่พิจารณาคีดที่ทหารทำผิดไว้ก่อน เป็นเรื่องถูกต้อง เพระการแก้ไขดังกล่าวต้องโยงกับการแก้ไขกฎหมายอื่น ที่อยู่นอกเหนือจาก พ.ร.ป.ป.ป.ช.” นายธงทอง ชี้แจง
ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ฐานะประธาน กมธ. ชี้แจง.-319.-สำนักข่าวไทย