นายกฯ ถกคณะผู้บริหารสมาชิก EU-ABC และ EABC

ทำเนียบ 19 ก.พ.- นายกฯ พบหารือคณะผู้บริหาร สมาชิก EU-ABC และ EABC เน้นย้ำนโยบายรัฐบาลขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-ยุโรป ด้านภาคเอกชนยุโรป เชื่อมั่นไทยมีศักยภาพทางธุรกิจ และเป็นประตูสู่อาเซียนที่สำคัญ พร้อมขับเคลื่อนร่วมมือระหว่างกันเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย


คณะผู้บริหารและสมาชิกสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (European Association for Business and Commerce: EABC) เข้าเยี่ยมคารวะ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและรับทราบนโยบายของรัฐบาล โดยมี นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายวีระพงษ์ ประภา ผู้แทนการค้าไทย เข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นายโนเอล คลีเฮน (Mr. Noel Clehane) รองประธานคณะกรรมการบริหาร EU-ABC และนางภารณี อดุลยพิเชฏฐ์ ประธาน EABC ประเทศไทย เป็นผู้นำคณะผู้แทนบริษัทยุโรปในอาเซียน ใน 5 สาขาธุรกิจ ได้แก่ สาขาการเงินและธุรกิจประกันภัย สาขาสินค้าอุปโภคบริโภค สาขาการคมนาคม โลจิสติกส์ และพลังงาน สาขาเคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ และสินค้าเกษตร และสาขาการให้คำปรึกษา เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี


โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับและยินดีที่ได้พบกับคณะผู้บริหารและสมาชิก EU-ABC และ EABC ในวันนี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายสำคัญของรัฐบาลให้กับภาคเอกชนยุโรป ซึ่งในการประชุม World Economic Forum เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้พบหารือกับรัฐบาลและผู้นำภาคธุรกิจของยุโรปจำนวนมาก พร้อมเน้นย้ำความพร้อมของไทยในการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนยุโรป และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านนวัตกรรมสมัยใหม่

สำหรับการหารือครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคเอกชนยุโรปในอาเซียน โดยเน้นย้ำว่า รัฐบาลพร้อมร่วมมือและสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนยุโรป และเห็นว่าทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านความยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดิจิทัล

ด้านเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับในวันนี้ ยืนยันว่า สหภาพยุโรปเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้และมีความน่าเชื่อถือสำหรับประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนที่แข็งแกร่ง โดยสหภาพยุโรปเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของไทย และมีการลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 43,000 ล้านยูโร ซึ่งช่วยสร้างงานได้กว่า 160,000 ตำแหน่ง ใน 19,000 บริษัทไทย นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจากสหภาพยุโรปมาไทยมากเป็นอันดับ 3 โดยเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ เห็นว่าทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันได้อีกในหลายสาขา พร้อมยินดีที่ภาคเอกชนยุโรปได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ซึ่งถือเป็นภาคเอกชนยุโรประดับโลกที่มีเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบริการระดับโลก การหารือในวันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีร่วมกันของทั้งสองฝ่าย


ส่วนรองประธานคณะกรรมการบริหาร EU-ABC ยินดีที่ได้นำคณะผู้แทนบริษัทยุโรปในอาเซียนเข้าพบนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พร้อมขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้จัดการพบหารือระหว่างคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานภาครัฐกับคณะผู้แทนบริษัทยุโรปในอาเซียนในหลายโอกาส โดย EU-ABC ถือเป็นกระบอกเสียงของภาคเอกชนยุโรปในอาเซียน และมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและสร้างสรรค์กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยมีการนำคณะผู้แทนบริษัทยุโรปในอาเซียนมาเยือนไทยเป็นประจำ พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคเอกชนยุโรป และได้รับความสนใจทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่ยอดเยี่ยม และเป็นประตูสู่อาเซียน โดยจากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจล่าสุด ภาคเอกชนยุโรปยังคงเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในไทย โดยเฉพาะความสามารถในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน และการฟื้นตัวจากโควิด-19 พร้อมเชื่อมั่นว่า FTA จะเป็นกลไกสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ขณะที่ประธาน EABC ประเทศไทย ยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการหารือวันนี้ ยืนยันว่า EABC พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเชื่อมั่นว่า FTA จะสามารถปลดล็อคศักยภาพของไทยในด้านการค้าและการลงทุน และทำให้ไทยกลายเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่ของโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ขณะนี้ นอกจากนี้ ยังชื่นชมความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ความโปร่งใส และการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดย EABC พร้อมร่วมมือกับรัฐบาล ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล การดูแลสุขภาพ การเงิน รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการบริการ เป็นต้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่กับการส่งเสริมความยั่งยืน ความเจริญรุ่งเรือง และความครอบคลุม ตลอดจนสนับสนุนการทำธุรกิจและการเติบโต เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยในระยะสั้น รัฐบาลมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการค้าและการท่องเที่ยว ขณะที่ในระยะยาว รัฐบาลมุ่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและการลงทุน โดยเฉพาะการเร่งรัดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ การบริหารงาน การต่อต้านการทุจริต และนโยบายการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนด้านการค้า หวังว่า ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ที่ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับที่ 16 ของไทย และฉบับแรกของไทยกับยุโรป จะช่วยปูทางสู่การสรุปการเจรจา FTA ไทย-EU ให้ได้โดยเร็ว เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ความยืดหยุ่น และความมั่นคงให้แก่ห่วงโซ่อุปทาน

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลมุ่งมั่นผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญ โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย พร้อมมาตรการดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติใช้ไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาค รวมถึงจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับอนาคต โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในด้านสีเขียว ดิจิทัล และเศรษฐกิจเพื่อการดูแลและสุขภาพ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การวิจัยและนวัตกรรม การขนส่งและโลจิสติกส์ บริการสาธารณูปโภค เทคโนโลยีดิจิทัล และการจัดเก็บภาษี

ส่วนอุตสาหกรรมหลัก รัฐบาลวางแผนส่งเสริมการลงทุนเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกในอุตสาหกรรมชั้นนำ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงและเซมิคอนดักเตอร์, ยานยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่, พลังงานทดแทนและชีวภาพ และเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี

การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว รัฐบาลให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและมีความก้าวหน้าภายใต้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2040 การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

ส่วนศูนย์กลางการเชื่อมโยง รัฐบาลเห็นประโยชน์จากที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของไทย และมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการพัฒนาการเชื่อมต่อทั้งทางรถไฟ, ทะเล, อากาศ และถนน พร้อมทั้งสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ทั่วประเทศ และดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินใหม่ และโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อเชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย โดยรัฐบาลได้พูดคุยกับหลาย ๆ ประเทศ และได้รับความสนใจและการสนับสนุนที่ดีเป็นอย่างมาก ซึ่งหากโครงการแลนด์บริดจ์สำเร็จ จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนด้านการขนส่งจำนวนมาก

ด้านการท่องเที่ยวและซอฟต์พาวเวอร์ รัฐบาลขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา 60 วัน สำหรับ 93 ประเทศ/ดินแดน และการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) สำหรับ 31 ประเทศ/ดินแดน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 35.5 ล้านคน ในปี 2567 รวมทั้งเร่งรัดกระบวนการขอใบอนุญาตทำงานและวีซ่า พร้อมเสนอสวัสดิการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาพำนักหรือทำงานในไทย

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ประเทศไทยเปิดรับต่อการดำเนินธุรกิจ ด้วยนโยบายที่ชัดเจนและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมในการลงทุน จึงไม่มีเวลาไหนที่จะเหมาะสมที่จะลงทุนในประเทศไทยเท่าเวลานี้ พร้อมเชิญชวนคณะ EU-ABC และ EABC ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยรัฐบาลพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชนยุโรป ซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันแก่ทั้งสองฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) เป็นองค์กรหลักสำหรับกลุ่มธุรกิจจากยุโรปที่ดำเนินกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมาธิการยุโรป และสำนักเลขาธิการอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนยุโรปที่ดำเนินกิจการในอาเซียน และร่วมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎระเบียบที่จะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างยุโรปกับอาเซียน โดยสมาชิก EU-ABC ประกอบด้วยบริษัทยุโรปจำนวน 78 บริษัท และสภาหอการค้ายุโรป 9 แห่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ประเทศไทย (European Association for Business and Commerce: EABC) ที่เป็นสภาหอการค้ายุโรปประจำประเทศไทย มีสมาชิกจำนวน 156 บริษัท .-316 -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

พยาบาลถูกตบ

“สมศักดิ์” พร้อมช่วยคดี “พยาบาลสาว” ถูกญาติผู้ป่วยตบหน้า

“สมศักดิ์” รมว.สธ. พร้อมสนับสนุนหา “ทนายความ” ช่วยคดี “พยาบาลสาว” ถูกญาติผู้ป่วยตบหน้า บอกหากเจ้าตัวไม่ดำเนินคดี กระทรวงฯ พร้อมออกโรงแทน หวั่นเป็นเยี่ยงอย่าง

รพ.ระยอง ยันดำเนินคดีถึงที่สุดญาติคนไข้ตบพยาบาล

โรงพยาบาลระยอง แถลงปมญาติคนไข้ตบหน้าพยาบาล เผยหลังเกิดเหตุได้ดูแลอาการบาดเจ็บของพยาบาลผู้ประสบเหตุทันที ยืนยันดำเนินคดีถึงที่สุด

ข่าวแนะนำ

“ไทย จีน เมียนมา” จับมือโชว์ภารกิจราบรื่น ส่งชาวจีนกลับประเทศ

“ไทย จีน เมียนมา” จับมือโชว์แสดงผลภารกิจราบรื่น ส่งชาวจีนเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับประเทศ 200 คน ปรับแผนจีนส่งเครื่องบินรับอีก 400 คน สองวันติด “ภูมิธรรม” เผยพร้อมเสนอนายกฯ เซ็นตั้ง ศปช.ส่วนหน้า ทำงานให้ชัดเจน มีกฎหมายรองรับผู้ปฏิบัติ ย้ำไทยไม่ตั้งศูนย์อพยพรองรับเหยื่อที่เหลือ แต่ประสานให้ต้นทางรับกลับทันที

เก๋งชนกระบะพุ่งตกคลอง พลเมืองดีลงไปช่วยจมหาย

เร่งค้นหาพลเมืองดี จมน้ำสูญหาย หลังกระโดดลงไปช่วยคนขับเก๋งและกระบะที่ประสบเหตุชนกัน ก่อนพุ่งตกคลองส่งน้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี

กกต.เสนอ ครม.ออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ สส.เขต 2 บึงกาฬ

กกต.เสนอ ครม.ออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ สส. เขต 2 บึงกาฬ หลังศาลฎีกามีคำพิพากษา พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิและให้ “สุวรรณา กุมภิโร” ชดใช้ค่าเลือกตั้งเกือบ 10 ล้านบาท

นายกฯ เรียกถกด่วน เร่งแก้ราคาข้าว-สินค้าเกษตรตกต่ำ

นายกฯ เรียก “รมว.พาณิชย์-รมว.เกษตรฯ” ประชุมด่วนวงเล็ก เร่งแก้ไขปัญหาราคาข้าว-สินค้าเกษตรตกต่ำ สั่ง นบข.ออกมาตรการระยะสั้นพยุงราคาข้าว เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้คุณภาพ ลั่น รัฐบาลอยู่ข้างชาวนา-เกษตรกร