รัฐสภา 14 ก.พ.-“วันนอร์” ยืนยันประธานรัฐสภามีอำนาจบรรจุวาระแก้ไข แจงเหตุผลเปิดถก หวังเห็นความต้องการของสภา ก่อนถามประชาชน เซฟเงิน 3 พันล้านบาท
นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เป็นวันที่ 2 ล่ม ว่า เหตุที่ไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อได้เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ โดยตนในฐานะประธานสภาขอชี้แจงว่า การประชุมเพื่อแก้ไขมาตรา 256 นี้ มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4 /2564 ให้ไปทำประชามติก่อน ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ได้ส่งญัตติมาให้พิจารณาเพื่อส่งให้ศาลวินิจฉัยว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน และตนในฐานะประธานสภามีอำนาจในการบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ และสมาชิกรัฐสภามีอำนาจเสนอแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่ ซึ่งตนขอชี้แจงเป็นข้อๆ ว่าโดยตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 21 /2567 ลงวันที่ 17 ม.ค.2567 ระบุชัดเจนว่าประธานสภามีอำนาจที่จะบรรจุ และ สส. คือก็มีอำนาจหน้าที่ที่จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทั้งการแก้ไขรายมาตรา และแก้ไขทั้งฉบับ
ส่วนการจะไปทำประชามตินั้น คำวินิจฉัยพูดชัดว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภา ส่วนจะต้องทำประชามติกี่ครั้งนั้น ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 21/2567 อาจจะแตกต่างจากคำวินัจฉัเมื่อปี 2564 เล็กน้อย โดยหากรัฐสภาต้องการจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจน ว่าต้องดูที่ความต้องการของสภาก่อน หรือดูความต้องการของประชาชนก่อน ซึ่งความเห็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐสภาและตนเห็นว่าต้องบรรจุเป็นวาระเข้าไปพิจารณาว่า รัฐสภาต้องการแล้วหรือยัง คือ สภารับหลักการที่จะแก้ไขมาตรา 256 หรือไม่ หากไม่รับหลักการก็คือสภาไม่ต้องการ ดันนั้นสภาจะต้องการ หรือไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องเป็นมติของรัฐสภา ไม่ใช่ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ตนจึงเอามาปรึกษารัฐสภา ซึ่งหากรับหลักการวาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 ก็ยังไม่ได้ให้เลือก สสร. และให้ไปดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต้องทำประชามติก่อน นี่คือขั้นตอน
“แต่หากยังไม่รู้เลย ว่ารัฐสภาต้องการอย่างนี้หรือไม่ แล้วไปทำประชามติก่อนตามที่เข้าใจกัน ซึ่งก็ได้ แต่ต้องเสียเงิน 3 พันล้านบาทก่อน ถ้าประชาชนบอกว่าไม่ต้องทำ ก็ถือว่าไม่ต้องมาประชุมต่อ แต่ถ้าประชาชนเอาและให้แก้ทั้งฉบับ ก็ต้องมาประชุมสภา แล้วถ้าเกิดว่าสภาบอกว่าไม่เอา ก็แก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้นก่อนจะเสียเงิน 3 พันล้านบาท จึงเลือกวิธีให้รัฐสภาแสดงความต้องการก่อน ส่วนสมาชิกที่ไม่เข้าประชุม เพราะเกรงว่าขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และมองว่าอาจจะมีความผิด ก็เป็นสิทธิ์ของสมาชิก” ประธานสภา กล่าว
นายวันมูหะหมัดนอร์ กล่าวว่า เรื่องสุดท้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยตอบชัดเจน แต่ให้ไปอ่านคำวินิจฉัยเอาเองว่าทำประชามติตอนไหน ทำให้มีการตีความไปต่างๆ นานา ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้ ทางนพ.เปรมศักดิ์ เพียรยุระ สว. เสนอญัตติเข้ามาว่าเนื่องจากยังไม่ชัดเจน จึงขอให้รัฐธรรมนูญตีความอีกครั้ง ซึ่งเสียงข้างมากในสภาเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ไม่ได้เอาของนพ.เปรมส่งให้รัฐธรรมนูญตีความ และเลื่อนการประชุมมาเป็นวันนี้ แต่สุดท้ายวันนี้องค์ประชุมก็ไม่ครบ จึงต้องเลิกการประชุมไป ญัตติยังค้างอยู่ 3 ญัตติ ซึ่งประธานจะมีการนัดหมายประชุมอีกครั้งเมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อมตรงกัน
เมื่อถามว่า ญัตติที่ค้างไว้แล้วมีคนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอะไรหรือไม่ ประธานรัฐสภา กล่าว การยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นเพื่อตีความ เนื่องจากเป็นความขัดแย้งในองค์กร ว่า อำนาจประธานสภาจะบรรจุได้หรือไม่ สมาชิกลงชื่อไม่น้อยกว่า 40 คน แล้วประธานต้องหารือว่าที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรส่งก็ส่ง ซึ่งก็ทำอยู่ แต่ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น ส่วนประชาชนยังไม่สามารถทำได้ แม้ลงชื่อกันมาเพราะประชาชนยังไม่ถือว่าเป็นองค์กร.-314.-สำนักข่าวไทย