รัฐสภา 14 ก.พ.- พรรคประชาชน แถลงผิดหวังประชุมรัฐสภาแก้ รธน.ล่ม 2 วันติด เกิดจากปัญหาขัดแย้งเพื่อไทย-ภูมิใจไทย ไม่ใช่ข้อขัดแย้งทางกฎหมายที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ บอกไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคร่วมรัฐบาล ชี้ขาดเจตจำนงทางการเมือง-นิติรัฐ-ไม่เคารพเสียงประชาชน จี้นายกฯ ในฐานะผู้นำรัฐบาล แก้ไม่ได้ควรยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน
พรรคประชาชน นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา พร้อมด้วยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. ระบบบัญชีรายชื่อ นำ สส . แถลงข่าวภายหลังที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่ม องค์ประชุมไม่ครบ วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1)
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่าพรรคประชาชนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะวาระการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้แทบจะเป็นด่านสุดท้ายที่คิดว่าสามารถเดินหน้าแก้ไข พอจะมีโอกาสได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 พวกเราเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สามารถเดินอย่างตรงไปตรงมาได้ ไม่จำเป็นต้องเดินอ้อม เพราะพวกเราไม่เชื่อว่าการเดินอ้อมอย่างที่เป็นอยู่จะนำไปสู่ทางที่ประชาชนต้องการ
ช่วงระหว่างพักการประชุม วิปสองฝ่ายหารือร่วมกันโดยฝั่งรัฐบาลมีความกังวลเรื่องข้อกฎหมายที่อาจพัวพันถึงขั้นฟ้องร้อง ภายหลังประชุมพบว่าฝ่ายรัฐบาลยังเดินหน้าให้มีการนับองค์ประชุมจนนำไปสู่สภาฯ ล่ม แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าเราจะพยามเดินอ้อมอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สิ่งที่พวกเราเชื่อว่าเป็นทางออกคือ การเดินหน้าตรง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยยังขาดอยู่ 3 เรื่อง
1.การขาดเจตจำนงทางการเมือง พรรคเพื่อไทยควรพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างจริงจัง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญควรถูกเสนอเข้ามาเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ใช่เสนอร่างของพรรคเพื่อไทยแค่ร่างเดียว จึงทำให้การประชุมทั้งสองวันต้องพบกับเหตุการณ์ที่เป็นอยู่คือ ไม่ได้รับเสียงสนับสนุน โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยระบุว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เคยเข้าหารือเรื่องนี้กับพรรคภูมิใจไทยเลย เหตุผลที่บอกว่าจำเป็นต้องเดินอ้อมเพื่อให้สภาฯ ล่ม เป็นเพียงข้ออ้างที่พรรคเพื่อไทยใช้อธิบายสถานการณ์เฉพาะหน้า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นพรคเพื่อไทยไม่คิดว่าจะแพ้เสียงโหวตจาก สว.ตั้งรับไม่ทัน จึงต้องหาคำอธิบาย
2.การขาดความเป็นนิติรัฐ สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นว่า กังวลจะมีการยื่นร้องและมีผูกพันทางกฎหมาย เรื่องนี้ควรหารือแต่ไม่เปิดโอกาสให่หารอยากือในที่ประชุม ทั้งที่สภาฯ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด อยากชี้ให้สังคมเห็นว่าประเทศเราขาดความเป็นนิติรัฐ ไม่ได้ปกครองโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด แต่อยู่ภายใต้การปกครองของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญใหญ่กว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ
สุดท้ายจะทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนก็ต้องวิ่งไปถามศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ระบบนิติรัฐของไทยในปัจจุบันมีปัญหา จำเป็นจะต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
3.การไม่เคารพเสียงของประชาชน ทุกพรรคในช่วงหาเสียงเลือกตั้งมีข้อเสนอแบบเดียวกันคือ จะเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้นวิธีหาทางออกเรื่องนี้ นายกฯ ในฐานะผู้นำรัฐบาลมีความจริงจังเดินหน้าเรื่องนี้ นายกฯ มีอำนาจสูงสุดยุบสภา สามารถเจรจาคุยกับพรรร่วมรัฐบาล แสดงเจตจำนงที่ชัดเจน ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเคารพเสียงประชาชน ถ้าไม่สามารถผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯ มีอำนาจยุบสภาฯ เพื่อคืนสิทธิให้กับประชาชน
ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่าการจะบอกว่าพรรคใดจริงจังจริงใจกว่ากันในการแก้รัฐธรรมนูญ ประชาชนได้ตามอยู่ 1-2 ปีที่ผ่านมาจะตัดสินใจได้ พรรคประชาชนยืนยันว่าเราต้องการผลักดันแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อให้เรามีระบบการเมืองที่ดีขึ้น ให้สภาฯ แก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างตรงจุดรวดเร็วขึ้น
ตนเองเข้าใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ รัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่า จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส.และเสียง 1 ใน 3 ของ สว. พรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่าอาจไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย และ สว.ที่หลายคนวิเคราะห์ว่ามีชุดความคิดคล้ายกับพรรคภูมิใจไทย โดยพรรคเพื่อไทยให้เหตุผลถึงสาเหตุที่พรรคภูมิใจไทย และ สว.กลุ่มนี้มีแนวโน้มลงมติไม่เห็นชอบ เพราะมีข้อกังวลข้อกฎหมาย จึงอยากชวนสังคมตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ไม่ได้รับเสียงสนุนเป็นเพราะข้อกังวลทางกฎหมาย หรือความขัดแย้งทางการเมือง
“สาเหตุที่แท้จริงคือข้อกังวลทางกฎหมาย พรรคประชาชนยืนยันว่าสิ่งที่ รัฐสภาดำเนินการอยู่ไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 หากวันนี้เดินหน้าประชุมก็จะเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมกันชี้แจงต่อสังคม และชี้แจงต่อ สว.ว่าทำไมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชนไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าเป็นสิทธิของ สส.และ สว.ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ในมุมพรรคประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่า หากส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอะไรรับประกันว่า เมื่อยื่นเรื่องตีความแล้วจะได้คำตอบที่ต้องการ เพราะมีการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วถึง 2 ครั้งเมื่อปี 2564 และปี 2567 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย เพราะบอกไว้ในคำวินิจฉัยปี 2564 ชัดเจนแล้ว” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวถึงสาเหตุที่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และ สว.ไม่ใช่ข้อกังวลทางกฎหมาย หรือความไม่ชัดเจนของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพราะพรรคภูมิใจไทย และ สว.ไม่ลงมติเห็นชอบกับการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าพรรคเพื่อไทยบอกว่า การมีความชัดเจน จะทำให้พรรคภูมิใจไทยและ สว.สนับสนุน แต่เหตุใดจึงไม่มาลงมติเห็นชอบเมื่อวานนี้เพื่อส่งเรื่อง นี่เป็นหลักฐานที่ประจักษ์และต้นตอที่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุน ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลใหม่คือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีร่าง พ.ร.บ.กลาโหม นิรโทษกรรม เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพลกซ์ การขึ้นค่าแรง และกัญชา และคอลเซ็นเตอร์
“ดังนั้นการจะแก้ปัญหาทางการเมือง ทางออกไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่นายกฯ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารและหัวหน้ารัฐบาลผสม ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างของพรรคร่วมรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้านายกฯ ไม่สามารถเป็นเจ้าภาพและแก้ปัญหาความเห็นแตกต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลได้ ก็ไม่สามารถใช้อำนาจนายกฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายได้ ควรจะคืนอำนาจให้กับพี่น้องประชาชน และยุบสภา” นายพริษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยฝากถามว่า ถ้าไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ พรรคประชาชนจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร นายณัฐพงษ์ ยืนยันคำเดิมว่า คำชี้แจงของพรรคเพื่อไทยเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่ได้คาดคิดว่าจะแพ้ญัตติส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นถ้าพรรคเพื่อไทยมีเจตจำนงผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต้องเจรจากับพรรคร่วมกับรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย รวมถึงเสนอร่างนี้เข้าเป็นร่างของ ครม.ตั้งแต่แรก
“เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงรอยร้าว ความไม่ลงรอยระหว่างพรรครัฐบาลด้วยกันเอง ดังนั้นการแก้ไขเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเทคนิคหรือข้อกฎหมาย แต่เป็นเรื่องทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง นายกฯ ต้องแก้ไขสถานการณ์เรื่องนี้” นายพริษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่าสถานการณ์ขณะนี้สุกงอมถึงขั้นยุบสภาใช่หรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่าถ้าทุกพรรคมีจุดยืนชัดเจนเคารพเสียงประชาชน และเป็นนโยบายที่ทุกพรรคแถลงร่วมกันต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารไม่สามารถผลักดันนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาได้ ไม่สามารถควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล มีกลไกเดียวที่ใช้ควบคุมพรรคร่วมรัฐบาลได้ ก็คือ ยุบสภา
นายพริษฐ์ กล่าวเสริมถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยฝากมาว่าเราเห็นถึงเหตุผลและความจำเป็นในการยุติการประชุม ถ้ากังวลว่าหากมีการเข้าญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พอมีการลงมติแล้วเสียงสนับสนุนจะไม่เพียงพอก็ไม่เป็นประเด็น เพราะเราสามารถเดินหน้าอภิปรายต่อได้ เราชี้แจงผ่านกลไกของวิปไปแล้วว่าหากมีความกังวลใจก็หารือเพื่อเลื่อนการลงมติได้
ตนเองเห็นด้วยกับนายณัฐพงษ์ ในเมื่อการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นนโยบายของรัฐบาล เราควรจะเห็นบทบาทของนายกฯ ที่ประสานความเห็นต่าง เมื่อไม่มีร่าง ครม.เข้ามาก็ถือการเปิดช่องให้พรรคร่วมรัฐบาลลงมติแบบไม่เป็นเอกภาพ กรณีที่นายอนุทินได้พูดไว้ว่านายกฯ ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเลย ซึ่งแตกต่างไปจากที่นายกฯ บอกว่าได้คุยกันแล้ว จึงฝากกลับไปถามว่าสรุปแล้วใครพูดจริง
เราไม่เห็นความจำเป็นในการส่งศาลรัฐธรรมนูญ หากเมื่อวานพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมประชุมและลงมติเห็นชอบไปยังศาลธรรมนูญก็จะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ หากพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าสิ่งที่พรรคภูมิใจไทยต้องการในการแก้ แก้รัฐธรรมนูญคือความชัดเจนของคำวินิจฉัยศาล ก็เชิญชวนให้พรรคภูมิใจไทยมาลงมติ
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่จะต้องชะลอการแก้รัฐธรรมนูญออกไปก่อน เพราะพวกเราได้ศึกษามาอย่างดีแล้ว คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2567 ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่ในการพิจารณาข้อสงสัย แต่มีหน้าที่ปัญหาการวินิจฉัยการทำหน้าที่ของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการลงมติก่อน หากดูเหตุและผลที่ได้กล่าวไป จึงไม่มีเหตุผลในการชะลอไปก่อน.-315 -สำนักข่าวไทย