รัฐสภา 13 ก.พ.-“รังสิมันต์ โรม” เรียกร้องรัฐบาลคุมเข้มท่าข้ามชายแดน สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังพบความหละหลวม 59 ท่าข้ามฝั่งแม่สอด
นายรังสิมันต์ โรม ประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ แถลงภายหลังการประชุมที่วันนี้ได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบด้านความมั่นคง กรณีปัญหาท่าข้ามชายแดน ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และยาเสพติดตามแนวชายแดน โดยเห็นว่าปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ใช่มีเพียงเรื่องของไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และน้ำมัน แต่พบว่ามีสิ่งหนึ่งที่เอื้ออำนวยกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็คือท่าข้ามทั้ง 59 ท่า ซึ่งที่ จ.ตาก มีท่าข้ามมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ เห็นว่าท่าข้ามเป็นปัญหา เพราะเป็นจุดในการส่งสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ การส่งสินค้าและสิ่งของต่างๆ ไปยังเมืองเมียวดี และฝั่งตรงกันข้าม 60% เป็นการส่งผ่านท่าข้าม
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวว่า ในวันนี้ ทางสภาความมั่นคงฯ ก็ให้ข้อมูลว่า การเปิดท่าข้ามต้องเปิดในกรณีจำเป็น และเป็นกรณีชั่วคราว แต่ข้อเท็จจริงพบว่า ท่าข้ามทั้ง 59 ท่า เปิดมาเป็นเวลานานแล้ว โดยหลังโควิดมีการเปิดเพิ่มเติมอีก 9 ท่า ซึ่งทาง กมธ.ได้ถามว่าเคยมีการปิดท่าข้ามบ้างหรือไม่ ก็ได้ข้อมูลมาว่าไม่เคยมีการปิดท่าเลย ดังนั้น ท่าข้ามจึงเป็นจุดสำคัญ และเป็นปัญหาทางกฎหมายที่เปิดกันอยู่ มีความชอบด้วยกฏหมายมากน้อยเพียงใด ทาง กมธ. จึงให้ทางจังหวัดรวบรวมข้อมูลว่า วัตถุประสงค์ในการเปิดท่าข้ามเป็นอย่างไร และมีความตั้งใจว่าจะเปิดยาวนานแค่ไหน เพราะตามกฏหมายการเปิดและปิดท่าข้าม ต้องมีเรื่องของระยะเวลาชั่วคราว และเป็นเรื่องความจำเป็น วันนี้ สมช.พูดอย่างชัดเจนว่า โดยปกติการค้าขาย อยากให้ใช้ช่องทางปกติ ที่ยอมรับจากนานาประเทศ นั่นก็คืออาจจะเป็นจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่านแดนที่ได้รับการผ่อนผัน ผ่อนปรนในกรณีพิเศษ จึงจะดี แต่ถ้าเป็นท่าข้ามจะมีช่องโหว่ทางกฎหมาย
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงก็พบว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องดูแลท่าข้าม ซึ่งบางคนดูแล 3-5 ท่าข้าม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนหนึ่งจะดูแลเรื่องความมั่นคง การป้องกันการลักลอบสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ จึงต้องยอมรับว่า ตามแนวชายแดนคือฟันหลอที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ท่าข้ามเป็นอำนาจการดูแลของอธิบดีกรมศุลกากร จากเดิมที่เข้าใจว่าเป็นกระทรวงมหาดไทย ในการกำหนดเรื่องเปิดหรือปิดท่าข้าม โดยที่ศูนย์สั่งการจังหวัดหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล ให้คำชี้แนะเท่านั้น
“วันนี้ สมช.พูดชัดเจนว่า มีความเห็นว่าท่าข้ามเหล่านี้น่าจะกระทบกระเทือนความมั่นคง เนื่องอาจจะใช้ในการส่งเสริมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สิ่งที่จะต้องพิจารณากันต่อว่า วันนี้เราเห็นถึงประโยชน์ด้านการค้า แต่ขณะเดียวกัน ภัยร้ายของเราคือเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทั้งสองจุดนี้จะดำเนินการอย่างไร ที่ผ่านมาที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใหญ่โตขนาดนี้ เราได้เห็นถึงจุดอ่อนแล้ว มาจนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นว่าใครต้องรับผิดชอบอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย“ นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบเรื่องของการเอกซเรย์ และบุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้ชายแดนมีความอ่อนแอ เพราะเราไม่มีศักยภาพในการดูแลชายแดนได้อย่างเข้มแข็ง จึงขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อป้องกันจุดอ่อนทั้งหลาย และตนพยายามชี้ให้รัฐบาลเห็นว่า เรื่องของท่าข้าม ถ้าเราไม่สามารถเพิ่มศักยภาพในการดูแลท่าข้าม ก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้ ท่าข้าม เปิด 06.00 น. ปิด 18.30 น. แต่ถึงจะมีคนไปเฝ้า จะมั่นใจได้อย่างไรว่าช่วงเวลาอื่นๆ จะไม่ถูกใช้เพื่ออำนวยให้แก่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งตนได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากว่า เวลา 20.30 น. ท่าข้ามฝั่งเมียวดี ยังมีการข้ามกันอยู่ ซึ่งก็ได้พยายามแจ้งหน่วยงานว่ามีเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้เกิดขึ้น ขอให้ช่วยกวดขัน ซึ่งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จะสร้างกลไกอย่างไรในการป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ให้ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ และหากสามารถแก้ปัญหาได้จะทำอย่างไรไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับมาอีก
ซึ่งในวันที่ 16-17 ก.พ.นี้ เราจะลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยจะเชิญทาง สมช. ร่วมลงพื้นที่ด้วย วันที่ 16 ก.พ. จะลงพื้นที่ จ.ตาก ส่วนวันที่ 17 ก.พ. จะเดินทางไป จ.พิษณุโลก เพื่อพูดคุยกับทางกองทัพภาคที่ 3
“ผมอยากจะขอร้องว่า เรื่องนี้เป็นความเป็นความตายของประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่ว่าคุณจะสีไหน การเมืองแบบไหน คอลเซ็นเตอร์เป็นภัยร้ายหลอกพวกเราทุกคน ดังนั้นผมไม่อยากให้เรื่องนี้จบที่ความเงียบ อยากให้เรื่องนี้จบที่ผลสำเร็จ ให้จบที่ความโปร่งใส ให้จบที่ทุนไทยเทา ในการที่จะถูกเอาไปดำเนินคดี ถ้าไม่มีทุนไทยเทา ผมว่าปัญหาหลายๆ อย่างของประเทศนี้จะดีกว่านี้ แล้วหวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด” นายรังสิมันต์ กล่าว.-314.-สำนักข่าวไทย