ทำเนียบ 13 ม.ค.-ตัวแทนประชาชน 19 จังหวัดเรียกร้องรัฐบาลกำจัดปลาหมอคางดำให้เป็นศูนย์ ตั้งคณะกรรมการกลางสอบสวน ฟ้องเรียกค่าเสียหาย และเร่งประกาศเขตภัยพิบัติ เยียวยาผู้เสียหาย
ประชาชนจาก 19 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ เดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 2 มีการปราศรัยเกี่ยวกับผลกระทบของปลาหมอคางดำ ที่ขณะนี้ได้ระบาดไปอย่างกว้างขวางมากกว่าเดิม เช่น บริเวณบางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม
นายสามารถ สะกวี จากเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ระบุว่า ขณะนี้ปลาหมอคางดำได้ระบาดอย่างหนักในพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตรบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง ใน จ.นครศรีธรรรมราช ยันคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ทำลายสายพันธุ์ปลาท้องถิ่นแทบหมดสิ้น เชื่อว่าขณะนี้ปลาหมอคางดำกำลังพักตัวและจะระบาดในทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญของไทยและของโลกในไม่ช้า รัฐบาลต้องรีบจัดการปัญหาของประชาชน ไม่ใช่คล้อยตามกล่มทุนใหญ่ที่พยายามผลักดันให้คนไทยอยู่ร่วมกับปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อาจรับได้
จากนั้นในเวลาประมาณ 13.30 น. นายปัญญา โตกทอง แกนนำของเกษดรกร จาก จ.สมุทรสงคราม ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาล 4 ข้อคือ 1)ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระเพื่อสืบสวน สอบสวน หาผู้กระทำความผิดในการทำให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
2)ขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการให้มีการเยียวยาเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำเป็นการด่วน โดยขอให้จังหวัดเร่งประกาศเขตภัยพิบัติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 3)ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ และคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อขจัดปลาหมอคางดำ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และฟื้นฟูอาชีพของเกษดรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยตั้งเป้าหมายให้ขจัดปลาหมอคางดำให้เป็นศูนย์ภายในปี 2569 จัดหางบประมาณให้เพียงพอ
4)เมื่อผลการสอบสวนสืบสวนแล้วเสร็จและพบผู้กระทำความผิด ให้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ก่อปัญหาต้องชดใช้ เยียวยาความเสียหาย เพื่อไม่เป็นการเบียดบังงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มดังกล่าวได้รวมกันเดินเท้า ไปยังตึกซีพีทาวเวอร์ โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใส่เสือยืดภาพปลาเล็กรวมพลังขับ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องให้บริษัทซีพีเอฟ แสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาการะบาด ปลาหมอคางดำ พร้อมป้ายข้อความเรียกร้องต่าง เช่น “ผู้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้นั้น รับผิดชอบ” “ใครเอาเข้ามา ก็เอาคืนไป”.-314.-สำนักข่าวไทย