รัฐสภา 9 ม.ค.- กมธ.ติดตามงบฯ วุฒิสภา เคาะส่งปมโครงการพิมพ์แบบเรียน 2567 ให้ “ป.ป.ช.-สตง.-บช.ก.” สอบต่อ หลัง ”บัญชีกลาง“ ยันขัด พ.ร.บ.จัดซื้อฯ “โรงพิมพ์รุ่งศิลป์” ขอบคุณ กมธ.เห็นความสำคัญ หวังได้ความเป็นธรรม หยุดความเสียหายในอนาคต เผยฟ้องศาล ปค.ขอยกเลิก-ทุเลาประกาศจ้างพิมพ์แบบเรียนปี 68 เหตุทีโออาร์ไม่ชอบ กม. เอื้อประโยชน์เอกชนบางเจ้า
การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา โดย นายอลงกต วรกี ประธานกรรมาธิการฯ เป็นประธานในที่ชุม ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดพิมพ์แบบเรียนปีการศึกษา 2567 ขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ที่มีข้อร้องเรียนว่าใช้งบประมาณอย่างไม่เกิดประสิทธิภาพ และมีข้อร้องเรียนว่าการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส จนก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐ มีผู้แทนจาก สำนักงาน สกสค., องค์การค้าของ สกสค., สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), กรมบัญชีกลาง, สำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด (โรงพิมพ์รุ่งศิลป์) เอกชนผู้รับจ้างในโครงการฯ เข้าร่วมการประชุม
โดยที่ประชุมได้มีมติรับทราบว่า การจัดซื้อจัดจ้างโครงการจัดพิมพ์แบบเรียนปีการศึกษา 2567 ขององค์การค้าของ สกสค. ซึ่งใช้วิธีการคัดเลือก แทนการ ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ขัดต่อมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ) ตามหนังสือกรมบัญชีกลางที่ตอบกลับโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.67 รวมทั้งรับทราบถึงอำนาจของ สตง.ในการตรวจสอบองค์การค้าของ สกสค. โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างประสานเข้าการตรวจสอบ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จเป็นอำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าการ สตง.) ในการเปิดเผยผลการตรวจสอบหรือไม่ต่อไป ซึ่งในส่วนนี้ นายอลงกต ได้สั่งการให้ กมธ.ส่งประเด็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สตง. และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อดำเนินการต่อ ขณะที่ประเด็นที่การจัดซื้อจัดจ้างขัดต่อมาตรา 102-103 แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ นั้นถือเป็นความผิดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรมบัญชีกลาง จึงไม่สามารถก้าวล่วงได้ เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการทางศาลปกครอง ซึ่งทราบว่าทาง โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ได้ฟ้องต่อศาบปกครองไว้แล้ว

นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด กล่าวภายหลังการประชุมว่า ต้องขอบคุณ กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยในชั้นนี้โรงพิมพ์รุ่งศิลป์เองไม่ได้ร้องเรียนต่อ กมธ. แต่ทราบว่า นายอลงกต ประธาน กมธ.ฯ ได้ติดตามข่าวจากสื่อมวลชน และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ก่อคสามเสียหายร้ายแรง จึงได้กำหนดวาระการประชุมในเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งในการเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลทั้ง 2 ครั้ง ก่อนที่ทาง กมธ.จะสรุปและส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นไปในทิศทางที่โรงพิมพ์รุ่งศิลป์พยายามต่อสู้มาตลอดว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การค้าของ สกสค.นั้นมีปัญหา และส่อไปในทางมิชอบ ซึ่งก็หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาเพื่อให้ความเป็นธรรมกับโรงพิมพ์รุ่งศิปล์ และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายนัทธพลพงศ์ เปิดเผยด้วยว่า และในขณะนี้องค์การค้าของ สกสค.ก็ได้ประกาศประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินกว่า 1 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.67 และกำหนดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอในวันที่ 28 ม.ค.68 อย่างไรก็ดี โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ก็ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศ และทีโออาร์ที่เกี่ยวกับการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2568 ขององค์การค้าของ สกสค. รวมทั้งให้กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและหลักฐานที่ใช้ในการเสนอราคาใหม่ และยกเลิกคุณสมบัติของผู้ยืนข้อเสนอและ
หลักฐานที่ใช้ในการยื่นข้อเสนอราคาตามที่กำหนดไว้ซึ่งเป็นไปในลักษณะกีดกันโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ นอกจากนี้ยังยื่นฟ้องของให้ศาลปกครองทุเลาประกาศโครงการจ้างพิมพ์แบบเรียนปี 2568 ด้วย
นายนัทธพลพงศ์ กล่าวต่อว่า เหตุที่โรงพิมพ์รุ่งศิลป์จำเป็นต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพราะแม้ว่าการประกวดราคาในครั้งนี้ องค์การค้าของ สกสค.จะกลับมาใช้วิธีการ e-bidding ก็ตาม แต่ในรายละเอียดของประกาศกลับส่อไปในทางไม่โปร่งใส และมีลักษณะกีดกันโรงพิมพ์รุ่งศิลป์อย่างชัดเจน โดยในการประกาศเอกสารประกวดราคา และขอบเขตงาน (ทีโออาร์) ของโครงการนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.67 ก่อนจะยกเลิกภายหลัง ทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ได้มีการวิจารณ์เสนอข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะตามขั้นตอนไปยังองค์การค้าของ สกสค.หลายประเด็น เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.67 ถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค. แต่ปรากฎว่า ข้อคิดเห็นของโรงพิมพ์รุ่งศิลป์กลับไม่ได้รับการพิจารณาหรือแก้ไข ก่อนที่องค์การค้าของ สกสค.จะประกาศเอกสารประกวดราคา และทีโออาร์ ในวันที่ 25 ธ.ค.67 ทันที
นายนัทธพลพงศ์ กล่าวอีกว่า ในทีโออาร์โครงการปี 2568 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอว่า ต้องไม่มีคุณสมบัติหรือประวัติหรือมีเหตุอันเชื่อได้ว่ามีส่วนร่วมหรือ มีการกระทำอันไม่โปร่งใสไม่ว่า ทางตรงหรือทางอ้อม และไม่เป็นผู้ทำให้องค์การค้าของ สกสค.ได้รับความเสียหายมาก่อนหรือมีส่วนร่วมหรือการกระทำอันไม่โปร่งใส ซึ่งเป็นการกีดกันโรงพิมพ์รุ่งศิลป์โดยตรง เนื่องจากมีคดีข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายกับทางองค์การค้าของ สกสค.อยู่ และคดียังไม่สิ้นสุด นอกจากนี้ก็ยังมีการกำหนดคุณสมบัติอีกหลายประเด็นที่ไม่เป็นธรรทและกีดกัน อาทิ ผลงานรับจ้างพิมพ์กับองค์การค้าของ สกสค.ที่กีดกันบริษัทขนาดเล็ก, การกำหนดสเปคกระดาษที่ที่กีดกันผู้ประกอบการผลิตกระดาษในประเทศ และเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางราย, การกำหนดวงเงินงบประมาณ 1,060 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าโครงการปี 2567 ทั้งที่ราคาในตลอดโลกลดลง และยังไม่ได้แจกแจงราคาต่อรายการ, การกำหนดห้ามผู้รับจ้างนำเครื่องพิมพ์ที่ยื่นเสนอราคาพิมพ์แบบเรียนขององค์การค้าของ สกสค. ไปพิมพ์งานอื่นจนกว่างานขององค์การค้าของ สกสค.จะแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นการกีดกันทางการค้า และอีกหลายๆประเด็นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย. 319.-สำนักข่าวไทย