รัฐสภา 7 ม.ค.-“พริษฐ์” ทวงร่างแก้ไข รธน.จากรัฐบาล และหวังร่างแก้ ม.256 เพื่อไทยตอนเป็นฝ่ายค้านที่ลดอำนาจ สว.แก้ รธน. พร้อมเดินสายปรับทัศนคติ สว.แก้รัฐธรรมนูญ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกพรรคฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาในวันที่ 14-15 มกราคมนี้ว่า พรรคประชาชน ได้เสนอแล้ว 1 ฉบับ ได้แก่ การเพิ่มหมวด 15/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการแก้ไขมาตรา 256 เกี่ยวกับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหวังว่า จะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากพรรคการเมืองอื่นๆ เสนอประกอบ แต่เชื่อจะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากพรรคเพื่อไทย ยื่นประกบเข้ามาด้วย ซึ่งเนื้อหาน่าจะไม่แตกต่างกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทย เคยยื่นไว้เมื่อปี 2567 ที่ตัดลดอำนาจเสียง สว. 1 ใน 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย
นายพริษฐ์ ยังคาดหวังให้คณะรัฐมนตรี ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบมาด้วย เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่ของพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง จึงจะรอดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรีด้วย และหากย้อนไปในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยึดแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจัดการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง แต่ประธานรัฐสภา ยังไม่มีการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการทำประชามติเพียง 2 ครั้งให้ที่ประชุมพิจารณา แต่เมื่อพรรคประชาชน เคลียร์ทางให้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่น่ามีเหตุผลใดที่คณะรัฐมนตรี จะไม่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยึดการทำประชามติ 2 ครั้ง
นายพริษฐ์ ยังกล่าวถึงเสียงสะท้อนจากสมาชิกรัฐสภาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่อำนาจเงื่อนไขเสียง สว. 1 ใน 3 ออกว่า รัฐธรรมนูญในอดีต มีการกำหนดการแก้ไข จะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มที่นอกจากจะได้เสียงรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งแล้ว ยังจะต้องได้รับเสียงความเห็นชอบจาก สว. 1 ใน 3 ด้วย ดังนั้น แม้ สส.ที่มาจากการเลือกตั้ง เห็นตรงกันทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ หาก สว.ไม่เห็นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาหลายภาคส่วนก็เห็นตรงกันว่า ควรตัดเงื่อนไขของ สว.ออก หรือหากย้อนกลับไปสมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ก็เคยเสนอให้ตัดอำนาจ สว. 1 ใน 3 ในการแก้ไขรัฐธรรรมนูญออก รัฐสภา ณ ขณะนั้น ก็รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยไว้ด้วย ดังนั้น เมื่อปี 2563 พรรคเพื่อไทยเคยเสนอแก้ไขมาแล้ว และได้รับเสียงรับหลักการจากรัฐสภาอย่างท่วมท้น จึงขอตั้งข้อสังเกตต่อพรรคเพื่อไทยว่า เมื่อเปลี่ยน สว.ชุดใหม่แล้ว การตัดเงื่อนไขของ สว.จะไม่สมเหตุสมผล และ สว.ชุดนี้ จะเป็นปฏิปักษ์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า สว.ชุดที่ผ่านมาหรือไม่
ส่วนที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยังไม่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบ เพราะกังวลจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุน สว.หรือไม่นั้น นายพริษฐ์ ย้ำว่า ในสมัยสภาฯ ชุดก่อน รัฐสภาเคยรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญลักษณะดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น เมื่อครั้งก่อนรับหลักการมาได้ ไม่เป็นอุปสรรค ก็หวังว่า จะไม่เป็นอุสรรคในการแก้ไขครั้งนี้ หรือหากเห็นว่าเป็นอุปสรรคในรายละเอียด ก็สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบมาได้
นายพริษฐ์ ยังคาดว่า ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 14-15 มกราคมนี้ ที่ประชุมรัฐสภา น่าจะหยิบยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ สสร. และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 มาพิจารณา พร้อมยังหวังว่า สส. และ สว.จะพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากประโยชน์ส่วนร่วม โดยไม่คำนึงถึงการลดอำนาจตัวเอง
ส่วนจะเดินสายหาเสียงสนับสนุนจาก สว.หรือไม่นั้น นายพริษฐ์ ยืนยันว่า พรรคประชาชนพร้อมพูดคุยอยู่แล้ว และในวันพรุ่งนี้ (8 ม.ค.) จะมีการประชุมวิป 4 ฝ่ายและจะมีวิป สว.มาร่วมประชุมด้วย และพร้อมไปอธิบายเพิ่มเติมต่อวุฒิสภาด้วยหลักการ และเหตุผล เพื่อให้วุฒิสภาเปิดใจ.-312.-สำนักข่าวไทย