กทม.3 ม.ค. – วันที่ 7 ของช่วงเฝ้าระวังอันตราย ตายยังสูงทะลุ 321 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ด้านรองปลัด มท. ชี้ เป็นโจทย์ที่ต้องทำให้ไทยไร้อุบัติเหตุให้ได้
นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานแถลงข่าวการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 และแถลงข้อมูลช่วง 10 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2567 ถึง 5 ม.ค. 2568 วันที่ 7 (2 ธค.) ว่า เกิดอุบัติเหตุ 196 ครั้ง ลดลงร้อยละ 2 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 43 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และผู้บาดเจ็บจำนวน 200 คน ลดลงร้อยละ 2.44
- จังหวัดเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตรัง 11 ครั้งรอง ลงมาได้แก่ สุราษฎร์ธานี 9 ครั้ง และนราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี สตูล และสุพรรณบุรี 7 ครั้ง
- จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ สุราษฎร์ธานี 8 ราย รองลงมาได้แก่ ปราจีนบุรี 4 รายและพิษณุโลกและอุทัยธานี 3 ราย
- จังหวัดที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุดคือ ตรังและลำปาง 11 คน รองลงมาได้แก่สุราษฎร์ธานี 9 คนและนราธิวาส 8 คน
สาเหตุของอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นมากที่สุดมีมูลเหตุสันนิษฐานจากการขับรถเร็ว เกินกว่ากฎหมายร้อยละ 40.31 ตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 26.02 ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.07
ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุดคือ 09.01-12.00 น. ร้อยละ 19.39 พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ประสบเหตุสูงสุดได้แก่ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยร้อยละ 64.61 ประเภทถนนลักษณะจุดเกิดเหตุประเภทถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.90 ลักษณะถนนทางตรงร้อยละ 83.67
เพศชายประสบอุบัติเหตุสูงสุดที่ร้อยละ 65.84 ส่วนช่วงอายุที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 22.23 และช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 17.70
ส่วนจำนวนอุบัติเหตุสะสมระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 2 มกราคม 2568 รวม 7 วัน มีจำนวนอุบัติเหตุสะสม 1,938 ครั้ง จำนวนผู้เสีย ชีวิต 321 ราย จำนวนผู้บาดเจ็บ 1,894 คน
- จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ สุราษฎร์ธานี 72 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ภูเก็ต 58 ครั้ง และ ตรัง 56 ครั้ง
- จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่สุราษฎร์ธานี 20 ราย รองลงมาได้แก่กรุงเทพมหานคร 18 ราย นนทบุรีและอุดรธานี 10 ราย
- จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดได้แก่ สุราษฎร์ธานี 82 คน รองลงมาได้แก่ภูเก็ต 59 คนตรังและลำปาง 56 คน
นายเชษฐา กล่าวว่า ช่วงควบคุมเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2561 ถึงวันนี้สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุยังคงเป็นสาเหตุเดิมของทุกวัน ทุกปี คือการใช้ความเร็ว ตัดหน้ากระชั้นชิด ดื่มแล้วขับ และมอเตอร์ไซค์ยังเป็นพาหนะ ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด จึงต้องเน้นย้ำเตือนให้ลดความเร็วในการขับขี่ สวมหมวกกันน็อค ไม่ดื่มแล้วขับ ทั้งนี้ ยังคงมาตรการในการตั้งจุดตรวจด่านต่างๆ ในการให้บริการผู้ขับขี่ เตือนการใช้ความเร็วและป้องปรามต่างๆ ทั้งนี้ มีผู้ที่ต้องเข้าควบคุมความประพฤติกว่า 900 คดี ได้ดำเนินคดีเมาสุรา ขับรถซิ่ง ขณะที่ หน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินทุกมาตรการแต่ อุบัติเหตุยังเกิดขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่ตลอดทั้งปีนี้ จะต้องทำให้เกิดความปลอดภัย ให้เมืองไทยไร้อุบัติเหตุได้ต่อไป.-319-สำนักข่าวไทย