ทำเนียบ 12 ธ.ค.- ศปช.ขอสาธารณสุข พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใต้ เตรียมพร้อมหากต้องเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางไปในที่ปลอดภัย ด้านเขื่อนบางลาง ยะลา จัด จนท.เฝ้าระวัง พร้อมเตือนภัยอย่างใกล้ชิด
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) รับทราบรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อประเมินภาวะกลุ่มเปราะบางในการเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากสถานการณ์ฝนตกหนัก ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม ที่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยเฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช พื้นที่เสี่ยงปริมาณฝนสะสมมากกว่า 300 มม. ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ตั้งแต่วันนี้ (12 ธ.ค.) ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2567 พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำ เตรียมพร้อมกำลังพล เครื่องจักรเครื่องมือเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้นในระยะนี้
“ผอ.ศปช.สั่งให้บริหารจัดการปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนักช่วงนี้ ปัจจุบันปริมาณน้ำ 1,213 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลเข้า 45.89 ล้าน ลบ.ม. และคงการระบายน้ำที่ 18 ล้าน ลบ.ม./วัน ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 262.64 ล้าน ลบ.ม. หรือ 18.1 % ล่าสุดได้รับรายงานว่า หากระดับน้ำสูงถึงระดับ Flood Control Rule Curve จะต้องเปิด Spillway สูง 1.20 เมตร เป็นระยะเวลา 10 นาที และลดบาน Spillway ลงมาที่ 0.5 เมตร ควบคู่กับการระบายน้ำผ่านช่องทางปกติ พร้อมแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ก่อนเปิด Spillway อย่างน้อย 1 วัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด” น.ส.ศศิกานต์ กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ศปช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ประสบอุทกภัย สำรวจ จัดทำบัญชี และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และทยอยส่งข้อมูลไปที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อตรวจสอบข้อมูลและความถูกต้องอีกครั้ง ก่อนส่งไปยังธนาคารออมสินเพื่อโอนเงินเยียวยา 9,000 บาท ให้ถึงมือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่เร็วที่สุด ตามแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 เพิ่มเติมในพื้นที่ 16 จังหวัด
“ผู้ประสบอุทกภัย สามารถยื่นคำร้อง ได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ส่วนการยื่นคำร้องฯผ่านระบบ Online สามารถลงทะเบียนได้แล้วทางเว็ปไซต์ http://flood67.disater.go.th และขอย้ำให้ผู้ประสบภัยตรวจสอบข้อมูลบัญชี หากยังไม่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ (PromptPay) แบบผูกบัญชีธนาคารกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน ขอให้ติดต่อธนาคารได้ทุกธนาคารเพื่อลงทะเบียนพร้อมเพย์ จะได้รับเงินช่วยเหลือเร็วที่สุด” น.ส.ศศิกานต์ กล่าว .314.-สำนักข่าวไทย