กทม. 8 ธ.ค.- นิด้าโพล เผย ผลสำรวจ “ประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ประชาชนหนุนเกณฑ์ผ่านประชามติ ต้องใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-3 ธ.ค. 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการประชามติ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลักของนิด้าโพล สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอนเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเกณฑ์การผ่านประชามติโดยต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง หรือเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของผู้มีสิทธิ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 51.37 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 21.83 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 15.50 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 10.46 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ทราบ,ไม่ตอบ,ไม่สนใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์การผ่านประชามติ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 59.54 ระบุว่า เสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ หรือต้องได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์รองลงมา ร้อยละ 26.57 ระบุว่า เสียงเห็นชอบต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่จำเป็นต้องถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ร้อยละ 12.52 ระบุว่า เสียงเห็นชอบต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องมากกว่าผู้ลงคะแนนช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน และร้อยละ 1.37 ระบุว่า ไม่ทราบ,ไม่ตอบ,ไม่สนใจ
ด้านความต้องการของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 27.63 ระบุว่า ต้องการมากรองลงมา ร้อยละ 27.02 ระบุว่า ไม่ต้องการเลย ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ค่อนข้างต้องการ ร้อยละ 19.08 ระบุว่า ไม่ค่อยต้องการ และร้อยละ 0.93 ระบุว่า ไม่ทราบ,ไม่ตอบ,ไม่สนใจ ท้ายที่สุดเมื่อสอบความคิดเห็นของผู้ที่ระบุว่าต้องการมากและค่อนข้างต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 694 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องการ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 78.97 ระบุว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รองลงมา ร้อยละ 19.16 ระบุว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และร้อยละ 1.87 ระบุว่า ไม่ตอบ .314.-สำนักข่าวไทย