รัฐสภา 4 ธ.ค.-กมธ.ร่วมฯ ส่งร่างแก้ประชามติ ตาม สว. ให้ 2 สภา คาดพิจารณาทันทีหลังเปิดสมัยประชุม “นิกร” ยอมรับยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับไม่ทันรัฐบาลนี้ แต่อยากให้กรุยทางตั้ง สสร.ให้ได้
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร โฆษกคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับที่ พ.ศ. .. พร้อมด้วย นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. แถลงภายหลังการประชุม กมธ.
โดยนายนิกร กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานของ กมธ. ซึ่งได้มีมติเห็นชอบตามวุฒิสภาให้แก้ไขมาตรา 13 เรื่องการออกเสียงประชามติ ว่าการออกเสียงประชามติในเรื่องการแก้เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ในเรื่องที่จะทำประชามตินั้น หรือ double majority และจะเสนอรายงานนี้ไปยัง 2 สภาภายในวันนี้ ซึ่งทราบว่าคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิสภา จะนำเรื่องเข้าพิจารณาในวันที่ 17 ธันวาคมนี้
ขณะที่ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ตนได้หารือกับประธานวิปรัฐบาลแล้ว คาดว่าน่าจะนำเข้าพิจารณาได้ในวันที่ 18 ธันวาคม และส่วนตัวเชื่อว่าทางวุฒิสภา คงให้ความเห็นชอบ แต่ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร เข้าใจว่าน่าจะยืนยันตามร่างเดิมของสภา และพักไว้ 180 วัน
ส่วนความเห็นว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่นั้น นายนิกร กล่าวว่า ตนได้มีการพูดคุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นกฎหมายการเงิน จึงต้องรอไว้ 180 วัน ทั้งนี้ ยอมรับว่าถ้าเป็นไปตามนี้ การจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับภายในรัฐบาลชุดนี้น่าจะไม่ทัน เพราะหลังจากพักไว้ 180 วันแล้ว กกต. ต้องออกอนุบัญญัติ ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และต้องให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เชิญ กกต. และสำนักงบประมาณ มากำหนดรายบะเอียด ว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการทำประชามติ และต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ครม. จึงจะมีมติเรื่องกรอบเวลาออกมา โดยต้องดำเนินการทำประชามติไม่น้อยกว่า 90 วัน และไม่มากกว่า 120 วัน ซึ่งรวมเวลาแล้วเกือบปี คาดว่าจะทำประชามติรอบแรกได้ในช่วงปลายธันวาคม 2568 หรือต้นปี 2569 ต่อจากนั้นจึงจะสามารถยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ได้ จึงคิดว่าไม่สามารถที่จะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับในรัฐบาลชุดนี้ได้เลย ทำได้เพียงให้มี สสร. ให้ได้
ด้าน นายวุฒิชาติ กล่าวถึงกรณีที่ สส. ยืนยันจะกลับไปใช้ร่างเดิม ว่า สส. และ สว. ต่างเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน โดยในส่วน สว. อาจจะมีมุมมองอีกแบบหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของรัฐสภาอยู่แล้ว ซึ่งมีข้อกำหนด ระเบียบข้อบังคับอยู่ ในที่สุดแล้วหากไม่ทันยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็อาจดูรายมาตราได้ใช่หรือไม่ ซึ่งความจริงแล้ว สว. ไม่ได้ยืนอยู่อย่างเดียวว่าต้องเป็นประชามติสองชั้น สามารถเข้ามาคุยกันได้ว่าอะไรที่เป็นกฎหมายสำคัญ แล้วไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนทั้งประเทศ ก็อาจจะมาคุยกันได้ ส่วนการแก้มาตรา 256 เพื่อให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. นั้น ใน สว. ยังไม่ได้คุยกัน และยังไม่อยากคาดการณ์ อีกทั้งตนยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้.-312.-สำนักข่าวไทย