รัฐสภา 7 พ.ย.-“รังสิมันต์” เผยปม “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ พบพิรุธและเคลือบแคลงสงสัยป่วยจริงหรือไม่ ใครตัดสินใจให้ไปรักษา มีแต่โยนกันไปมา ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏ ยันเดินหน้าแสวงหาข้อเท็จจริง
นายรังสิมันต์ โรม สส. พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศของสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง ผลการประชุมคณะกรรมาธิการ ในกรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ว่า ในวันนี้พยายามแสวงหาข้อเท็จจริงให้มากที่สุด โดยพยามตั้งประเด็น 1.การพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 เป็นการดำเนินการโดยชอบหรือไม่ 2. การเข้าพักรักษาระยะยาวจนพ้นโทษการตัดสินใจของผู้ใด ถูกต้องทางการแพทย์และกฎหมายหรือไม่ และ3. สิ่งที่ตามมาคือการพ้นโทษจนถึงปัจจุบันมีปัญหาในเชิงความชอบด้วยกฏหมายอะไรบ้าง
ซึ่งต้องยอมรับว่าในประเด็นที่ 1-2 มีปัญหามากในการพิจารณา แต่เรื่องหนึ่งที่สามารถชี้แจงได้ กรณีนายทักษิณป่วย มีอาการแน่นหน้าอก ไปที่สถานพยาบาล และข้อมูลที่ได้รับมา คือ คนที่ประเมินสุขภาพของนายทักษิณเป็นเพียงพยาบาลเท่านั้น โดยนายทักษิณไม่ได้ถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เลย ส่วนแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ได้มีโอกาสพิจารณาตรวจวินิจฉัยสุขภาพของนายทักษิณ จึงเป็นข้อเคลือบแคลงถึงกระบวนการ เพราะระยะเวลาดังกล่าวนี้ ใช้เวลาเพียง 21 นาทีเท่านั้น และการส่งตัวนายทักษิณดำเนินการโดยบัญชาการเรือนจำ จึงเป็นข้อสงสัยว่าเหตุใดบทบาทของแพทย์ จึงน้อยมากในการให้ความเห็นในเรื่องนี้ สุดท้ายกลายเป็นเรื่องโยนกันไปโยนกันมา และไม่ทราบว่าการตัดสินใจให้นายทักษิณรักษาตัวอยู่ในการตัดสินใจของใคร
“กลายเป็นแค่คุณพยาบาลที่อยู่สถานพยาบาลโทรไปหาหมอที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อปรึกษา และหลังจากนั้นมีการส่งตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งการโทรไปในลักษณะดังกล่าว เรียนตามตรงว่า เราไม่เคยทราบมาก่อน พยายามจะตรวจสอบว่าเป็นกระบวนการปกติหรือไม่ พยายามขอแนวทางและวิธีการ เพราะไม่ใช่กรณีของนายทักษิณเพียงคนเดียว แต่ยังมีอีกหลายคนที่จะเจ็บป่วยและต้องการเข้าถึงทางการแพทย์ที่ฉุกเฉินเช่นเดียวกันแต่เราไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน” นายรังสิมันต์กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ยังเกิดข้อเคลือบแคลงว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ หรือมีส่วนในการตัดสินใจในการรักษา เพราะความรับผิดชอบไม่ได้อยู่เพียงแค่หน่วยงานราชการ แต่หมายถึงนายทักษิณอาจจะเกี่ยวข้องกับการแสดงบทบาทบางอย่าง ทำให้เกิดการหลงเชื่อว่ามีความเจ็บป่วยและทำให้ผลของการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องส่งไปยังโรงพยาบาลตำรวจ กลายเป็นว่าสุดท้ายการที่นายทักษิณไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการอยู่ด้วยความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงยืนยันที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันได้รับข้อมูลจากเลขานุการของกรรมาธิการว่า ปกติการอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ในห้องพิเศษ จะมีค่าใช้จ่าย ประมาณ 8,500 บาท และเป็นไปได้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเกินกว่า 1 ล้านบาท จึงเกิดคำถามว่า ใครเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้ไม่ได้คำตอบ รวมถึงเวชระเบียนการรักษา และข้อมูลการรักษาก็ไม่มีผู้ใดที่จะให้ข้อมูลตอบคำถามได้
“ทั้งหมดทำให้ข้อเท็จจริงหลายๆอย่าง ไม่ปรากฏชัดเจนต่อกรรมาธิการ แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดเจนในวันนี้คือ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสงสัยเป็นเรื่องที่มีพิรุธ และเป็นเรื่องที่ตลอดการทำหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการความมั่นคง 53 ครั้ง คิดว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ได้รับความร่วมมือที่น้อยที่สุดจากหน่วยงานราชการ และเป็นครั้งที่หน่วยงานราชการไม่อยากตอบอะไรกับกรรมาธิการ ทำให้ความสงสัยที่สังคมมีอยู่กับกรณีชั้น 14 ยังคงอยู่ต่อไป” นายรังสิมันต์ กล่าว
ประธานกรรมาธิการความมั่นคง กล่าวต่อว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าในการประชุมครั้งหน้าจะเชิญใครมาชี้แจง เพราะยังอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม แต่กำลังพิจารณาว่าการประชุมครั้งหน้าจะมีการพิจารณาในเรื่องนี้อีกหรือไม่ จะหารือกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เบื้องต้นยังมีอีกหลายหน่วยงานเห็นว่าควรมีการพูดคุย เช่น แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจที่แจ้งว่ายินดีที่จะให้ข้อมูลในครั้งต่อไป หรือประธานอนุในการกลั่นกรองจริยธรรมของแพทยสภา อาจจะมีเวลาไม่ตรงกันจะพิจารณาหาเวลาอีกครั้งหนึ่ง หรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์มองว่าจะต้องมีการชี้แจงในเรื่องนี้ และยืนยันว่ามีความจำเป็นที่จะแสวงหาข้อมูลในเรื่องนี้ต่อไป.-315.-สำนักข่าวไทย