ทำเนียบ 4 พ.ย.-ศปช.ย้ำเฟคนิวส์ “ฝนหนักต้นน้ำแม่สาย..อาจท่วมซ้ำ” เข้าหน้าหนาวน้ำน้อยแล้ว แต่อาจมีฝนบ้างตามสภาพอากาศแปรปรวน ปภ.ยืนยันโอนเงินเยียวยาลอตใหญ่พุธนี้ผ่านพร้อมเพย์ ด้านภาคใต้ยังต้องเฝ้าระวังฝนหนัก 13 จังหวัด ด้านรัฐบาลไม่รอปัญหามาค่อยแก้ จัดประชุมวางแผนแก้ภัยแล้งตั้งแต่เนิ่น ๆ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนฉบับที่ 8 อากาศแปรปรวน ประเทศไทยตอนบน วันนี้ไปจนถึง วันพุธนี้ (4-6 พฤศจิกายน) โดยในภาคเหนือ อาจมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพและระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศแห้ง ลมแรง และยังต้องเฝ้าระวังฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง วันที่ 6-7 พฤศจิกายนนี้ ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูนและเชียงราย โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย จะไม่เกิดน้ำท่วมซ้ำรอยที่ผ่านมา
“มีข่าวลือว่า กระแสลมฝ่ายตะวันตกจะทำให้เกิดฝนตก บริเวณต้นน้ำและอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซ้ำอีกระลอก กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานต่อ ศปช. ว่า จากการติดตามแบบจำลองสภาพอากาศ พบว่าในช่วงนี้ลมตะวันตกยังมีอิทธิพลไม่มาก เนื่องจากยังมีความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ลงมาปกคลุม ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า โอกาสที่จะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำของอ.แม่สาย จ.เชียงราย มีโอกาสเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ แม้จะมีฝนกระจายตัวในพื้นที่ตอนบน แต่ไม่หนักถึงขั้นทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำแน่นอน”
ส่วนพายุโซนร้อน “หยินชิ่ง” คาดว่าวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายนนี้ จะมีทิศทางเคลื่อนลงทะเลจีนใต้ตอนบน จึงยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยในขณะนี้ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทิศทางยังมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนที่ ศปช. ยังคงเฝ้าระวังในระยะนี้ คือภาคใต้ ซึ่งจะยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันนี้ (4 พ.ย.67) ถึงวันพุธที่ 6 พ.ย.นี้ ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยยังต้องเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากที่ จ.ชุมพร อ.เมืองชุมพร อ.ทุ่งตะโก อ.ท่าแซะ อ.สวี อ.ปะทิวและอ.หลังสวน ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช อ.ชะอวด อ.ช้างกลาง อ.นาบอน อ.ฉวาง อ.ลานสกา อ.นบพิตำ อ.พิปูน และอ.ทุ่งสง ทั้งนี้ การเดินทางขึ้นล่องเส้นทางภาคใต้ในช่วงฝนตกต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน พร้อมติดตั้งป้ายเตือน เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่สัญจรไปมาแล้ว ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ของ ศปช.ในภาคกลางนั้น กรมชลประทาน รายงานว่าได้ปรับลดการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาทเช้าวันนี้ เหลือ 1,051 ลบ.ม./วินาที คาดว่าภายใน 3 วัน จะปรับการระบายน้ำเข้าสู่ภาวะปกติ หรือต่ำกว่า 700 ลบ.ม./วินาที
นายจิรายุ กล่าวว่าสำหรับ การจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ตามมติ ครม. วันที่ 17 ก.ย. 67 และ 8 ต.ค. 67 ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินโอนเงินผ่านระบบ พร้อมเพย์ ให้ผู้ประสบอุทกภัยที่ยื่นคำร้องแล้ว 16 ครั้ง 188,413 ครัวเรือน เป็นเงินรวม 1,695,653,000 บาท และมีกำหนดโอนครั้งต่อไปให้ได้กว่า 3 หมื่นครัวเรือน ในวันพุธที่ 6 พ.ย.นี้
นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า นอกจากสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว ปัญหาภัยแล้งก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยวันนี้ (4 พ.ย.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการขับเคลื่อนมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 ที่ จ.นครราชสีมา โดยรัฐบาลเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้งพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง จึงได้มอบหมายทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ทั้งการสำรวจแหล่งน้ำต้นทุน จับตาพื้นที่เสี่ยงภัย กำชับแผนบริหารจัดการน้ำอ่างฯลำตะคอง เร่งหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม บริหารจัดการน้ำในทุกมิติ โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภค พร้อมเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับประชาชนในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม
“เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในพื้นที่ได้ดำเนินการเชิงป้องกัน ลดผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่เกิดขึ้นเลย หากเกิดผลกระทบกับประชาชนต้องเร่งให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว พร้อมเร่งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ซ่อมแซมหรือปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำให้มากขึ้น รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เกษตรกรดำเนินการตามแผนเพาะปลูกพืชอย่างเคร่งครัด” นายจิรายุ กล่าว.-314.-สำนักข่าวไทย