ทำเนียบ 8 ต.ค.-ที่ประชุม ศปช. ยกโมเดล “เชียงราย-เชียงใหม่” แก้ปัญหาน้ำท่วมแบบยั่งยืน ย้ำบริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ขอให้มั่นใจน้ำจะไม่ท่วม กทม. แบบปี 2554 แน่นอน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 3 เป็นการประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกัน หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้เกิดความคืบหน้าให้มากที่สุด ที่มีการประชุมที่ส่วนกลางและส่วนหน้า ที่จังหวัดเขียงรายและเชียงใหม่ โดยได้แจ้งให้ทราบ คือการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนโดยเร็ว จึงทำความเข้าใจร่วมกัน ที่เสนอไป 5 ข้อ คือ น้ำท่วม อำเภอเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้เกิดขึ้นจากร่องฝน มีฝนตกหนัก 3-4 ตุลาคม ที่อำเภอเชียงดาว เวียงแห และแม่ริม ตกมากที่สุดในหลายร้อยปี และที่อำเภอแม่สาย เกืดเหตุดินโคลนถล่มเป็นครั้งแรกและใหญ่ขนาดนี้ จึงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ว่า เป็นเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ถือว่าเป็นความผิดพลาดของหน่วยงานราชการ หรือกระบวนการบริหารจัดการใดๆทั้งสิ้น ไม่อยู่ในวิถีที่ควรจะเกิด หรือสภาวะที่เราเคยรับทราบมา มันเกิดจากสภาวะโลกร้อน และเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นบทเรียน เราจึงได้สร้าง 2 โมเดล คือโมเดลที่เชียงใหม่และเขียงราย ซึ่งที่เชียงราย เป็นโมเดลที่เกิดขึ้นจากน้ำโคลน ส่วนที่เชียงใหม่เป็นฝนตกหนัก มีน้ำมาก น้ำหลาก ดังนั้นที่เป็นสิ่งที่มีการทำความเข้าใจแลพประเมินสถานการณ์
เรื่องที่ 2 คือเมือน้ำมาถีงตัวอำเภอเมือง น้ำได้ล้นตลิ่งเข้าสู่ที่ลุ่มของอำเภอเมืองจำนวนมาก ทำให้น้ำในแม่น้ำลดลงในระดับที่มีนัยสำคัญ ดังนั้นต้องมีระบบป้องกันเมืองด้วยเขื่อนขนาดเล็ก ที่เรียกว่า โฟเดอร์ ดังนั้นจึงให้กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน และจังหวัดเชียงใหม่ไปดูเรื่องนี้
เรื่อง 3 เป็นเรื่องข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าน้ำจากอำเภอเชียงดาวเดินทางมาอำเภอเชียงใหม่ใช้เวลา 30 ชม. ถึงอำเภอแม่แตง 16 ชม. ถึงแม่ริม 6 ชม. ถือว่าเป็นพื้นที่ค่อนข้างยาว ระดับน้ำค่อนข้างแตกต่างกัน ลำน้ำปิงตื้นเขิน มีความคดเคี้ยว คอคอดมาก เกิดจากธรรมชาติและการบุกรุก จึงสั่งการให้กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการ และท้องถิ่น ไปศึกษาหาแนวทางแก้ไขเส้นทางน้ำ ให้เกิดความสะดวกในการระบายน้ำให้มากขึ้น
เรื่องที่ 4 ฝนที่ตก 5 วันในลุ่มน้ำปิง ในป่าเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวม 14 แห่ง ไม่สามารถอุ้มน้ำได้ดี และปรากฎมีการทำกินในพื้นที่ซึ่งคงไม่ถูกต้อง อยากให้กรมอุทยาน กรมป่าไม้ และกระทรวงมหาดไทย ฟื้นฟูป้าต้นน้ำอย่างจริงจัง ใช้ความรอบครอบอนุโลมให้ปลูกข้าวโพดบนยอดเขายอดดอยอย่างเหมาะสม
และเรื่องที่ 5 เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องกึ่งเชิงทางวิชาการหลายแขนง ต้องเข้าใจภูมิประเทศ และโครงสร้างทางสังคมผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาฯ ไปคิดที่จะมีคณะทำงานต่างๆ ที่จะมาแก้ไขปัญหา โดยให้เวลาเตรียมการภายใน 3 เดือน เราน่าจะมีคณะทำงานที่ลงไปทำหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นก็สามารถรับมือได้ และคิดต่อว่าโมเดลเชียงใหม่ และโมเดลเชียงรายจะมีเหตุในการแก้ไขปัญหาอย่างไร
นายภูมิธรรม ยังกล่าวว่าในเรื่องการประสานงานไม่มีปัญหาอะไร เป็นเอกภาพ ส่วนกระบวนการจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำและพื้นที่ริมน้ำ ยืนยันได้ว่า กทม.น้ำไม่ท่วมอย่างปี 2554 แน่นอน ขอให้ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น เพราะเชื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนภูมิพลยังสามารถรองรับน้ำได้ และฝนกำลังจะหยุดตก และเรากำลังจัดความสมดุลในการระบายน้ำ ส่วนบนของเขื่อนมากเกินไป และปล่อยให้พอดีไม่ให้เกิดปัญหาท่วมกับจังหวัดที่อยู่ใต้เขื่อน ซึ่งพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำท่วมอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เหตุการณ์พิเศษเมืองปี 2554 อยากสื่อทำความเข้าใจกับประชาชน และสื่อโซเชียลช่วยกระจายข่าวแบบมีข้อมูลที่เป็นจริง ไม่อยากให้สร้างความหวาดกลัว ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทำงานเต็มที่.-314.-สำนักข่าวไทย