กรุงเทพฯ 29 ก.ย.- โฆษก ศปช. เทียบข้อมูลสถานการณ์น้ำปี 2567 กับปี 2554 พบน้ำปีนี้น้อยกว่าเกือบ 10 เท่า ย้ำการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาท ไม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ขอคนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มั่นใจ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้ของ ศปช.ได้ข้อสรุปเรื่องสำคัญที่เป็นข้อวิตกกังวลของประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยสรุปข้อมูลเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำระหว่างปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2554 พบว่า จากการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พิจารณาทุกปัจจัยทั้งน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน ทำให้สถานการณ์น้ำในปี2567 นี้ไม่ซ้ำรอยปี 2554 ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- จำนวนพายุ โดยในปี 2554 พบว่ามีพายุเข้าไทยถึง 5 ลูก ไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก เมื่อเทียบกับปี 2567 มีพายุเข้าไทยเพียง 1 ลูกคือ “ซูริก” ซึ่งแม้จะไม่ได้เคลื่อนเข้าประเทศไทย แต่ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานของไทยมีฝนตกหนักและเกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่
- ปริมาณฝนสะสม เนื่องจากในปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และมีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% และเป็นปริมาณฝนมากที่สุดในรอบ 61 ปี หรือนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ขณะที่ในปี 2567 แม้จะมีปริมาณฝนทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี แต่ภาพรวมปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ 2%
- ปริมาณเขื่อนในการรองรับน้ำในปี 2554 เนื่องจากปริมาณฝนสะสมสูงกว่าปกติทำให้เขื่อนหลักของประเทศไทยรองรับน้ำ 1,366 ล้านลบ.ม. แต่ในปี 2567 การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลทำให้เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้ถึง 7,162 ล้านลบ.ม.
- ปริมาณน้ำท่า หรือปริมาณการระบายน้ำเหนือ โดยเฉพาะการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในปี 2554 มีการระบายน้ำสูงถึง 3,661 ลบ.ม./วินาที ขณะที่การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ณ วันที่ 28 ก.ย.67 อยู่ที่ 1,848 ลบ.ม./วินาที อีกทั้งความจุลำน้ำยังสามารถรองรับการระบายได้สูงถึง 2,730 ลบ.ม./วินาที
นายจิรายุ เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงาน ศปช. ได้เน้นย้ำถึงการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำเหนือเขื่อนที่ไหลเข้ามา และปริมาณน้ำทะเลหนุนที่จะกระทบต่อระดับน้ำในลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันตรงกันว่าไม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
“ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำอยู่ที่ 1,900 ลบ.ม./วินาที แต่ที่มีความกังวลคือ น้ำเหนือเริ่มเติมเข้ามามากขึ้น ในอีก 2-3 วันอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอาจจะกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน 11 จุด 4 จังหวัด (อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท) ตามที่ได้แจ้งเตือนไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่กระทบกับพื้นที่ กรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน เพราะรองรับการปล่อยน้ำได้ถึง 3,000-3,500 ลบ.ม./วินาที แต่ทั้งนี้หากมีน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่ำและจุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทาง กทม.สำรวจแล้วพบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 32 จุด ซึ่งกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย รายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย พบว่าปัจจุบันระดับน้ำทั้ง 2 จังหวัดเริ่มลดลง โดยที่จังหวัดเชียงราย เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.แม่สรวย อ.แม่ลาว และ อ.เวียงป่าเป้า บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 2,892 ครัวเรือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าสำรวจความเสียหายดำเนินการฟื้นฟู และจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาในลำดับต่อไป
ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมและเกิดดินสไลด์ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.สารภี อ.หางดง อ.สันป่าตอง และ อ.ดอยหล่อ โดยในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการฟื้นฟู ล้างทำความสะอาดในพื้นที่ที่สถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลาย ประกอบด้วย ถนนเจริญราษฎร์ จากสะพานนวรัฐ ถึงสะพานนครพิงค์ ถนนช้างคลาน จากวัดอุปคุต ถึงแยกแสงตะวัน ถนนศรีดอนไชย จากแยกแสงตะวัน ถึงแยกโรงแรมอนันตรา ถนนเจริญประเทศ จากแยกโรงแรมอนันตรา ถึง สะพานนวรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือพร้อมเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ .-316 -สำนักข่าวไทย